กลุ่มทิสโก้ ร่วมกับ มูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ชวนคนไทยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลป์ จากคลังศิลปะสะสมทิสโก้ (TISCO Art Collection) รวบรวมผลงานที่หลากหลายจากเหล่าศิลปินไทยเกือบ 600 ชิ้นงาน นับตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งบริษัท ถึง ปัจจุบัน จัดแสดงในรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tiscoart.com เพื่อสะท้อนถึงความมั่งคั่งทางปัญญาของสังคมไทยกว่า 5 ทศวรรษ และยังคงทำหน้าที่สนับสนุนเหล่าศิลปินและวงการศิลปะ หวังสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมไทยให้ยั่งยืน
นายไพรัช ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า กลุ่มทิสโก้ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเก็บรักษาผลงานศิลปะล้ำค่า อันเป็นประจักษ์พยานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งทางปัญญาของสังคมไทยมาอย่างยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ กระทั่งวันนี้ทิสโก้ยังคงทำหน้าที่รวบรวมชิ้นงานศิลปะหลากหลายแขนงจากเหล่าศิลปินไทย เพื่อบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านศิลปะ วัฒนธรรม และจารีตประเพณี ในโอกาสพิเศษครบรอบปีที่ 55 ของกลุ่มทิสโก้ จึงร่วมกับมูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 รังสรรค์คลังศิลปกรรมสะสม (TISCO Art Collection) ให้คนไทยสามารถเข้ารับชมได้ทุกหนทุกแห่งผ่านช่องทางเว็บไซต์ทางการที่ชื่อว่า tiscoart.com
สำหรับเนื้อหาเว็บไซต์แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 หมวดหมู่หลัก ได้แก่ 1. “งานศิลปกรรมสะสม” โดยรวบรวมผลงานที่เก็บสะสมมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการก่อตั้งบริษัทราว 600 ชิ้นมาจัดแสดง เสมือนการบันทึกประวัติศาสตร์ของวงการศิลปะแต่ละยุคสมัย อาทิ ภาพพิมพ์แกะไม้ “ฝาแฝด” ปี 2512 โดยอาจารย์ประพันธ์ ศรีสุตา ภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบ “เหลืองระทม” ปี 2513 โดยอาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ภาพวาดเทคนิคปากกาลูกลื่นบนกระดาษ “งู” ปี 2517 โดยอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี งานสัมฤทธิ์ “เจริญงอกงาม” ปี 2524 โดยอาจารย์ชำเรือง วิเชียรเขตต์ เป็นต้น
2. “ศิลปิน” โดยมีรายชื่อศิลปินมากกว่า 250 ท่าน ทั้งศิลปินชั้นครูหรือศิลปินแห่งชาติ ศิลปินแห่งยุคสมัย ศิลปินอาวุโส รวมถึงศิลปินรุ่นใหม่ ๆ ทำให้ชิ้นงานมีความหลากหลาย และ 3. “นิทรรศการและกิจกรรมด้านศิลปะ” ที่ทิสโก้ได้รวบรวมผลงานศิลปะร่วมสมัยคัดเลือกมาจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการ หนังสือ และกิจกรรมอื่น ตามแนวคิดที่สอดคล้องกับความเป็นไปในแต่ละยุคสมัยนั้น
“คลังศิลปะสะสมทิสโก้ ไม่เพียงให้การสนับสนุนศิลปินไทย ได้มีกำลังใจสร้างสรรค์งานศิลป์ที่มีคุณภาพ แต่ยังเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ทางศิลปะที่เดินทางมาไกลกว่า 5 ทศวรรษ โดยการสะสมชิ้นงานของทิสโก้ถือเป็น CSR (Corporate Social Responsibility) ในรูปแบบหนึ่ง ไม่ได้มองเป็นการลงทุน และไม่ได้มีแนวคิดในการขาย โดยเป็นการซื้องานจากศิลปินใหม่ในแต่ละยุค จึงทำให้คลังศิลปะสะสมที่นี่มีความหลากหลาย ทั้งในแง่ของศิลปิน ชิ้นงาน ประเภท เทคนิคการสร้างสรรค์งาน และยุคสมัย เมื่อเข้าชมงานจึงเหมือนได้เห็นพัฒนาการของวงการศิลปะไทย โอกาสนี้ กลุ่มทิสโก้ เชิญชวนคนไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและสนับสนุนศิลปะไทยให้คงอยู่เป็นมรดกของชาติที่ทรงคุณค่าผ่าน tiscoart.com เพื่อทำให้วงการศิลปะไทยยั่งยืนไปด้วยกัน” นายไพรัช กล่าว
อาจารย์พิทักษ์พล วิสุทธิ์อัมพร เลขาธิการมูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 กล่าวว่า “ทิสโก้มีงานศิลปะที่หลากหลาย แม้ไม่ใช่แหล่งรวมงานศิลปะที่มีมูลค่าสูงสุด หรือเป็นผลงานจากศิลปินดังที่สุด แต่ชิ้นงานของทิสโก้เป็นตัวบ่งบอกการเจริญเติบโตทางศิลปะของประเทศไทยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง โดยในช่วงที่เริ่มโครงการสำรวจงานศิลปะพร้อมกับการบันทึกสภาพและประเมินราคา ทำให้ได้รู้จักกับงานทุกชิ้นที่อยู่ในคลังศิลปะสะสมของทิสโก้ ในยุคแรกจะเริ่มมีงานศิลปะนามธรรม (Abstract Art ) พอมาอีกยุคจะเริ่มมีงานที่เกี่ยวกับการเมือง เกี่ยวกับการทดลองเทคนิคใหม่ มีงานศิลปะจัดวาง (Installation Art) ดังนั้น ศิลปะในยุคต่าง ๆ ที่ทิสโก้คัดเลือกเก็บไว้จึงมีความหลากหลายและเป็นตัวแทนของความเคลื่อนไหวในสังคมไทยได้อย่างชัดเจน”
อย่างไรก็ตาม “ทิสโก้” ก่อตั้งขึ้น มีสถานะเป็นบริษัทเงินทุนแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2512 ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในขณะนั้น “คุณศิวะพร ทรรทรานนท์” จึงได้ริเริ่มซื้องานศิลปะมาประดับในออฟฟิศ เพื่อสร้างสุนทรียภาพให้กับบรรยากาศในที่ทำงานโดยรวม และเป็นจุดเริ่มต้นของการสนับสนุนศิลปินและเป็นต้นกำเนิดของคลังศิลปะสะสม อันเป็นที่รู้จักกันต่อมาในนาม “TISCO Art Collection” เพื่อเป็นแรงสนับสนุนหนึ่งให้ศิลปินมีกำลังใจสร้างสรรค์ชิ้นงาน รวมทั้งตระหนักถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิต จารีตประเพณี และความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ปัจจุบันคลังศิลปะสะสมทิสโก้มีชิ้นงานเกือบ 600 ชิ้น จากศิลปินกว่า 250 ท่าน จัดแสดงไว้ตามพื้นที่ชั้นต่าง ๆ ของอาคารทิสโก้สำนักงานใหญ่ และสาขาทั่วประเทศ และเพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้ชื่นชม จึงได้รวบรวมทุกชิ้นงานไว้ในเว็บไซต์ www.tiscoart.com สามารถเข้าชมได้แล้วตั้งแต่วันนี้
COMMENTS
RELATED TOPICS