รฟท. หารือ กมธ.คมนาคม วุฒิสภา

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา เดินทางมาเยี่ยมเยือนการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการดำเนินงานในปี 2567 แนวทางการดำเนินงานของการรถไฟฯ ในปีงบประมาณ 2568 และความคืบหน้าการดำเนินโครงการสำคัญที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฯ โดยนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมปฏิบัติการ ชั้น 3 ตึกบัญชาการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกันในครั้งนี้ ได้พิจารณาแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานในทุกมิติ ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า รวมถึงการยกระดับระบบรางของไทยให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ มุ่งเน้นการสร้างรายได้และความยั่งยืนให้แก่การรถไฟฯ ซึ่งสอดรับกับพันธกิจสำหรับการฟื้นฟูของการรถไฟฯ ที่ต้องการสร้างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ พัฒนาระบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการขนส่งของประเทศ ผ่านโครงข่ายคมนาคมที่ครอบคลุม เข้าถึงได้ และราคาที่เป็นธรรม

ปัจจุบัน การรถไฟฯ ให้บริการขบวนรถโดยสารแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ขบวนรถโดยสารเชิงสังคม จำนวน 146 ขบวน/วัน และเชิงพาณิชย์ จำนวน 74 ขบวน/วัน รวมทั้งสิ้น 220 ขบวน/วัน ซึ่งมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร ในปี 2567 ประมาณ 30,870,000 คน นับเป็นรายได้กว่า 3,921.30 ล้านบาท นอกจากนี้ ปัจจุบันการรถไฟฯ สามารถให้บริการขนส่งสินค้า จำนวน 62 ขบวน/วัน โดยในปี 2567 มีปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 12,8000,000 ตัน นับเป็นรายได้กว่า 2,122.60 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินโครงการสำคัญที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฯ นั้น ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แล้วเสร็จตามแผนงาน ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน จำนวน 7 เส้นทาง ที่เปิดให้บริการไปแล้ว 5 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา–คลองสิบเก้า-แก่งคอย 2.ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 3.ช่วงนครปฐม-หัวหิน 4.ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และ 5.ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ส่วนอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ 1.ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ เตรียมเปิดให้บริการช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เพื่อมอบเป็นของขวัญให้แก่พี่น้องประชาชน และ 2.ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ขณะนี้ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานได้ในช่วงต้นปี 2568

ส่วนโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ 1. เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ 2. บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม รวมระยะทาง 677 กม. ปัจจุบัน อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการ รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย) รวมระยะทาง 609 กม. ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างเร่งรัดก่อสร้าง ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ระยะทาง 250.77 กม. คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2571

ขณะที่ ด้านรถจักรและล้อเลื่อน การรถไฟฯ เร่งผลักดันโครงการจัดซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ จำนวน 113 คัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการขนส่งสินค้า และรองรับโครงการรถไฟทางคู่ที่จะทยอยเปิดใช้งานในอนาคต สามารถประหยัดพลังงานได้ประมาณ 10 - 30 % รวมถึงการจัดหารถจักรสับเปลี่ยนที่ใช้แบตเตอรี่ จำนวน 17 คัน ทดแทนรถจักรสับเปลี่ยนเดิมที่มีสภาพการใช้งานกว่า 60 ปี รวมทั้งการจัดหารถดีเซลราง (Hybrid DEMU) จำนวน 184 คัน เพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งเชิงพาณิชย์ รองรับทางคู่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อชี้แจง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อเสนอต่อกระทรวงคมนาคมต่อไป

ที่ผ่านมา การรถไฟฯ ยังมีรายได้จากการให้เช่าที่กว่า 3,987.19 ล้านบาท แต่ในอนาคตหลังจากโอนที่ทั้งหมดให้กับบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟฯ แล้ว เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาและสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯ เพิ่มขึ้นอีก ส่วนบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ที่ให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง 2 เส้นทาง ได้แก่ สายเหนือ ระหว่างสถานีบางซื่อ–สถานีรังสิต จำนวน 10 สถานี และสายใต้ ระหว่าง สถานีบางซื่อ–สถานีตลิ่งชัน จำนวน 3 สถานี ปัจจุบัน จากนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ทำให้มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยในช่วงปี 2567 มีปริมาณผู้โดยสารกว่า 10,602,478 คนต่อปี


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment