ค่าเงินบาทเปิดเช้า 22 พฤศจิกายน 2567 ที่ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 22 พฤศจิกายน 2567 ที่ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อยในลักษณะ Sideways Up (กรอบการเคลื่อนไหว 34.61-34.77 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงราว 22.30 น. ตามเวลาประเทศไทย หนุนโดยแรงขายสกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงทำให้ ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า ECB มีโอกาสที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้พอสมควร ขณะที่เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน นอกจากนี้ สกุลเงินฝั่งยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลต่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งความกังวลดังกล่าว กอปรกับความต้องการใช้พลังงานในช่วงฤดูหนาวก็มีส่วนหนุนให้ราคาแก๊สธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้น และเป็นอีกปัจจัยที่กดดันสกุลเงินยุโรป อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ยังคงปรับตัวขึ้นต่อบ้าง สู่โซน 2,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ในช่วงที่ตลาดกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ ความต้องการถือเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และถ้อยแถลงของผู้ว่าฯ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ย้ำว่า BOJ จะประเมินข้อมูลรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อเศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจากความผันผวนของค่าเงิน ในการดำเนินนโยบายการเงิน ได้ช่วยหนุนเงินเยนญี่ปุ่นและชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้บ้าง (อนึ่ง ในช่วงเช้าของวันนี้ เงินเยนญี่ปุ่นได้แข็งค่าขึ้นสู่โซน 154 เยนต่อดอลลาร์ หลังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ของญี่ปุ่น อยู่ที่ระดับ 2.3% สูงกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดคงมองว่า BOJ มีโอกาสราว 63% ที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้)

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น สะท้อนผ่านการปรับตัวขึ้นของหุ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหุ้นธีม AI/Semiconductor ที่ยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของ Nvidia +0.5% ที่แม้จะโตชะลอลง แต่ก็ยังมีแนวโน้มการเติบโตของผลประกอบการที่ดีอยู่ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ถูกกดดันจากแรงขาย Alphabet -4.7% หลังกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ต้องการให้ Google ยุติการผูดขาดธุรกิจค้นหาออนไลน์ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นเพียง +0.03% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.53%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.41% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ธีม AI/Semiconductor อย่าง ASML +2.4% ที่ได้อานิสงส์จากความหวังต่อแนวโน้มการเติบโตของผลประกอบการของ Nvidia นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มธุรกิจอาวุธสงคราม ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน

ในส่วนของตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 4.40% แม้ว่าจะมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นบ้าง ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด ทว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ถูกจำกัดโดย ทั้งแรงซื้อ Buy on Dip รวมถึงความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งนี้ เราคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว (เน้น Buy on Dip) เนื่องจาก Risk-Reward ของการถือครองบอนด์ระยะยาวยังมีความน่าสนใจ เมื่อประเมินจากผลตอบแทนรวม (Total Return) โดยเฉพาะในกรณีที่ บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจปรับตัวขึ้นหรือลง +/-50bps ซึ่งน้อยกว่าการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เพื่อถึงจุด Break-Even

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน อีกทั้งผู้เล่นในตลาดคงเชื่อว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ได้มากกว่า เฟด ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ถูกชะลอลงบ้าง ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD และการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 107 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.4-107.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความกังวลต่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงร้อนแรงอยู่นั้น ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) สามารถทยอยปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,690-2,700 ดอลลาร์

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนพฤศจิกายนของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะทยอยรับรู้จากฝั่งญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษ ไปจนถึงสหรัฐฯ โดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวอาจสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และอาจมีผลต่อการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลักได้ นอกจากนี้ ในฝั่งอังกฤษ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนตุลาคม ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก พร้อมทั้งติดตาม สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงร้อนแรงอยู่ในช่วงนี้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจกดดันให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ ทว่า เงินบาทอาจยังไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านดังกล่าวไปได้ไกลนัก ตราบใดที่ราคาทองคำยังสามารถปรับตัวสูงขึ้นต่อได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัว Sideways อีกทั้ง เราเริ่มเห็นการทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติม ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าก็ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่ยังคงได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าบรรดาธนาคารกลางหลักอื่นๆ (ยกเว้นธนาคารกลางญี่ปุ่น) รวมถึงแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินต่างประเทศ อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) หลังเงินเยนญี่ปุ่นเริ่มทยอยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาทในช่วงนี้

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ โดยเฉพาะในส่วนของรายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ โดยเรามองว่า ในกรณีที่ดัชนี PMI ของสหรัฐฯ นั้นออกมาดีกว่าคาด ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง แต่อาจไม่มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดได้รับรู้แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดที่อาจน้อยกว่า Dot Plot เดือนกันยายน ไปมากแล้ว แต่หากดัชนี PMI ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจกดดันทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้พอสมควร โดยในกรณีดังกล่าว อาจเห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้เช่นกัน

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.85 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment