ค่าเงินบาทเปิดเช้า 21 พฤศจิกายน 2567 ที่ระดับ 34.64 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 21 พฤศจิกายน 2567 ที่ระดับ 34.64 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง (กรอบการเคลื่อนไหว 34.59-34.76 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าโดยรวมเงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงเชื่อว่า เฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ยและมีโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ได้ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน ทว่าเงินบาทก็ยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์สูงขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ราว +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซน 2,640-2,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทวีความร้อนแรงในช่วงนี้ (เรามองว่า ควรจับตาพัฒนาการของสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงิน โดยเฉพาะในส่วนของราคาทองคำและเงินบาทได้) นอกจากนี้ ความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงนี้ ยังได้หนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ชะลอการอ่อนค่าลงบ้าง หลังในช่วงระหว่างวัน เงินเยนญี่ปุ่นได้ทยอยอ่อนค่าลงใกล้โซน 156 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ซึ่งภาพดังกล่าว กอปรกับแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ก็มีส่วนช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงคืนที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง เพื่อรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่ อย่าง Nvidia -0.8% อีกทั้งบรรยากาศในตลาดการเงินก็ยังคงถูกกดดันจากความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นบ้างของหุ้นกลุ่ม Healthcare โดยเฉพาะ UnitedHealth +4.1% จากข่าว ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่งตั้ง Dr. Mehmet Oz (Dr. Oz) ให้ดูแลเกี่ยวกับศูนย์บริการทางการแพทย์ของรัฐบาล (Center for Medicare & Medicaid Services) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.002% แทบไม่เปลี่ยนแปลง

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวลง -0.022% ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงผลกระทบจากนโยบายการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยกดดันหุ้นกลุ่มยานยนต์ของยุโรป อาทิ Porsche -4.5% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Rio Tinto +0.6%

ในส่วนของตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 4.40% แม้ว่าจะมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นบ้าง ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด ทว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ถูกจำกัดโดย ทั้งแรงซื้อ Buy on Dip รวมถึงความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งนี้ เราคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว (เน้น Buy on Dip) เนื่องจาก Risk-Reward ของการถือครองบอนด์ระยะยาวยังมีความน่าสนใจ เมื่อประเมินจากผลตอบแทนรวม (Total Return) โดยเฉพาะในกรณีที่ บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจปรับตัวขึ้นหรือลง +/-50bps ซึ่งน้อยกว่าการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เพื่อถึงจุด Break-Even

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทว่า เงินดอลลาร์ก็ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD อีกทั้ง ความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงนี้ ก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 106.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.5-106.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความกังวลต่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทวีความร้อนแรงขึ้น รวมถึงจังหวะการย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) สามารถทยอยปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,670-2,680 ดอลลาร์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟด โดยเฉพาะสำหรับการประชุม FOMC เดือนธันวาคมนี้

นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลักอื่นๆ นอกจากเฟด ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ BOE และ ECB พร้อมทั้งติดตาม สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงร้อนแรงอยู่ในช่วงนี้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ Sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งอาจมีจุดสำคัญอยู่ที่ช่วงวันศุกร์ ซึ่งจะมีการรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่น (ส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ได้) รวมถึงรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Manufacturing and Services PMIs) เดือนพฤศจิกายน ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางหลักได้เช่นกัน

ทั้งนี้ เราประเมินว่า เงินบาทเผชิญความเสี่ยงสองด้าน (ทั้งอ่อนค่าและแข็งค่า) พอๆ กัน โดยแรงหนุนฝั่งแข็งค่านั้น อาจมาจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ตราบใดที่ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือ ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง (ซึ่งดูสงบลงจากช่วงก่อนหน้าพอสมควร) ทว่า ความกังวลต่อความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าว ก็มีโอกาสหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่กดดันเงินบาทได้เช่นกัน และแม้ว่าเงินดอลลาร์อาจ แกว่งตัวในกรอบ Sideways หรืออาจยังไม่ได้แข็งค่าขึ้นชัดเจนท่ามกลางแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD แต่เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ จากแรงขายสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติ ที่เริ่มกลับมาอีกครั้ง โดยในวันก่อนหน้า นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นและบอนด์ไทย กว่า -4.6 พันล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นพอสมควรจากช่วงต้นสัปดาห์ นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดอย่างฝั่งผู้นำเข้าก็อาจรอจังหวะทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์แถวโซนแนวรับช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถแข็งค่าทะลุโซนแนวรับดังกล่าวได้ง่ายนัก ขณะเดียวกัน ฝั่งผู้ส่งออกต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ ในช่วงแนวต้าน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ (โซนถัดไป 35.00 บาทต่อดอลลาร์) ทำให้โดยรวมเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ระหว่างโซนดังกล่าวไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.75 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment