{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) กันยายน 2567 อยู่ที่ระดับ 92.44 หดตัวร้อยละ 3.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไตรมาส 3 ปี 2567 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.23 หลังการผลิตยานยนต์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนและสถานการณ์หนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ยังอยู่ในระดับสูง พร้อมเสนอแนะผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยเตรียมตัวรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เน้นปรับตัวและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ระดับ 92.44 หดตัวร้อยละ 3.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 57.47 ส่งผลให้ดัชนี MPI ไตรมาส 3 ปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 94.74 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.23 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 58.29 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 0.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตยานยนต์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ทั้งตลาดภายในประเทศและการส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง และสถานการณ์หนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ยังอยู่ในระดับที่สูง ทำให้สถาบันการเงินยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันต้นทุนพลังงานอยู่ในระดับสูง และปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่าสินค้าของไทย โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์กระทบผู้ประกอบการไทย ซึ่งสินค้านำเข้าที่ทะลักเข้ามามาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้า เป็นต้น ขณะที่ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัวร้อยละ 2.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาส 3 ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 7.05
ด้านการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนตุลาคม 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น” โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น ตามการลงทุนภาคเอกชนและความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน ภาคการผลิตที่ลดลง ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ และผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น จากภาคการผลิตของสหภาพยุโรปที่ยังคงหดตัว รวมถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา และความกังวลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี
“ประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐมีผลต่ออุตสาหกรรมไทยนั้น มองว่ามีทั้งได้รับอานิสงส์และอาจจะได้รับผลกระทบ ดังนั้น สศอ. จึงมีข้อเสนอแนะแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อให้สามารถปรับตัวและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม ได้แก่ 1. ปรับตัวสู่เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน 2. พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยตรวจสอบและปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการใช้พลังงาน หรือการสูญเสียพลังงานในแต่ละขั้นตอนเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต 3. นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 4. ผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก โดยต้องมีความเข้าใจความต้องการและสามารถจัดการกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และ 5. พัฒนาแรงงานโดยสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร (Reskill) พัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้น (Upskill) เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ นำมาประยุกต์ใช้กับ การทำงาน (Newskill) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะของแรงงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดโลก” นายภาสกร กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนกันยายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.54 จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเบนซิน เป็นหลัก จากการผลิตกลับมาเป็นปกติในปีนี้หลังผู้ผลิตบางรายหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในปีก่อน
สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49.96 จากปลาทูน่ากระป๋อง เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย เพื่อสต็อกสินค้าไว้รองรับความต้องการในช่วงเทศกาลและวันหยุดปลายปี ส่งผลให้ตลาดส่งออกขยายตัว
เครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.73 จากเครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก ตามสภาพอากาศทั่วโลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ลูกค้าจากสหรัฐอเมริกาเร่งให้ส่งมอบสินค้า และผู้ผลิตพัฒนาสินค้าได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนกันยายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.48 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก รถยนต์ไฮบริดขนาดมากกว่า 1800 ซีซี เป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง และสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ
ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.54 จาก Integrated circuits (IC) เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่ลดลงและบริษัทแม่ในต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจ ต่างจากสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ที่ค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.96 จากพื้นสำเร็จรูปคอนกรีตและเสาเข็มคอนกรีต เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของโครงการก่อสร้างของภาครัฐและอสังหาริมทรัพย์ในภาคเอกชน ตามภาวะเศรษฐกิจหนี้ครัวเรือนสูง สถาบันการเงินเข้มงวดอนุมัติสินเชื่อ ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้น
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS