{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
"สุริยะ" ยืนยันประชาชนได้ใช้รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายครบทุกสี-ทุกสายภายใน ก.ย. 68 แน่นอน จ่อชง ครม. ต่ออายุมาตรการภายใน 30 พ.ย.นี้ เร่งดัน พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เสนอเปิดสมัยประชุมสภา ธ.ค. 67 ลุยถกร่วม ก.คลัง ศึกษาตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซื้อสัมปทานรถไฟฟ้า 2 แสนล้าน เตรียมระดมทุนจากนักลงทุน พร้อมเดินเครื่องจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ยึดโมเดลต่างประเทศ ชี้เบื้องต้นจัดเก็บได้ปีละ 1.2 หมื่นล้าน คาดชัดเจนกลางปีหน้า
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ในปัจจุบันได้ดำเนินการในโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยได้ผลตอบรับจากพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดีนั้น อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะใช้ในโครงการรถไฟฟ้าทุกสี ทุกสาย และทุกเส้นทางภายในเดือนกันยายน 2568 ตามที่เคยประกาศไว้อย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่ออายุมาตรการนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่จะครบในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 อีกทั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในสมัยการประชุมช่วงเดือนธันวาคม 2567 โดยเมื่อ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ฉบับดังกล่าว มีผลบังคับใช้แล้ว จะมีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อจัดหาเงินทุนมาสนับสนุนนโยบายฯ อาทิ ส่วนแบ่งรายได้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, กองทุนอนุรักษ์พลังงาน และงบประมาณ
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง เตรียมร่วมกันศึกษาแนวทางการดำเนินการนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า โดยการระดมทุนจากนักลงทุน ระยะเวลา 30 ปี วงเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อคืนสัมปทานในโครงการรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง เพื่อให้ภาครัฐ สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลง และเป็นธรรม เข้าถึงได้ง่ายด้วย
แล้วยังจะดำเนินการศึกษาเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion charge) เพื่อนำเงินเข้ากองทุนฯ และอาจจะพิจารณานำไปเป็นดอกเบี้ย (ผลตอบแทน) ให้กับผู้ระดมทุน โดยจะดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนสีลม ถนนรัชดาภิเษก เป็นต้น ซึ่งการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว เป็นรูปแบบที่ได้ดำเนินการในต่างประเทศ และประสบผลสำเร็จ อย่างเช่น ประเทศอังกฤษ
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวนั้น จะช่วยให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะโดยรถไฟฟ้ามากขึ้น อีกทั้ง ยังช่วยแก้ปัญหามลภาวะ และฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วย อย่างไรก็ตาม เตรียมว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อพิจารณาพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียม, รวมทั้งพิจารณางบประมาณที่จะซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าในแต่ละเส้นทาง อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะเห็นความชัดเจนภายในกลางปี 2568
สำหรับการคาดการณ์แนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเบื้องต้นนั้น มีแนวทางจะเริ่มจัดเก็บในระยะ 5 ปีแรก ในอัตรา 40-50 บาท และในช่วง 5 ปีถัดไป จะทยอยเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในขณะนั้น ซึ่งคาดว่า จะสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในพื้นที่ที่กำหนดได้วันละประมาณ 700,000 คัน หรือประมาณ 35 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อนำมาสนับสนุนการซื้อคืนสัมปทานด้วยเช่นกัน
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS