สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย นำเสนอแนวทางรับมือ กรณีจีนรุกคืบนำแฟลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซบุกตลาดออนไลน์ไทย

ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวทางภาคธุรกิจจากจีน หรือที่เรียกกันว่า "ทุนจีน" ได้เข้ามามีการรุกคืบไทยอย่างต่อเนื่อง นับเป็นสถานการณ์ที่ มีทั้งความท้าทายและโอกาสต่อธุรกิจของไทย แม้ว่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง การถ่ายทอดเทคโนโลยี การส่งเสริมแรงงาน แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อยเพราะการผูกขาดหลายส่วน แต่การเข้ามาเป็นคู่แข่งขันโดยตรง ได้ก่อให้เกิดการเสียโอกาสของธุรกิจโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการไทย ที่ผ่านมาจะเห็นจากการเข้ามาของทุนจีนในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยว ขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารเครื่องดื่ม เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ของใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึง สินค้าอุปโภคบริโภคมากมาย

อีคอมเมิร์ซจีนคืบคลานเข้าไทย ในขณะที่ตลาดออนไลน์เติบโต

หนึ่งในวงจรสำคัญ ของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูงมากในประเทศไทย ก็คือ ธุรกิจการค้าปลีกออนไลน์ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีความเกี่ยวโยงกับผู้ผลิตที่เป็นผู้ประกอบการในประเทศเป็นจำนวนมาก

การเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีน ที่เชื่อมโยงกับกระบวนการผลิตขนาดใหญ่ นั่นคือนานาสินค้านับพันนับหมื่นรายการ ที่มีข้อได้เปรียบทั้งด้านต้นทุนแรงงาน วัตถุดิบ สายการผลิต เงินทุน เทคโนโลยี เมื่อนำมาผนวกเข้ากับการทำการตลาดออนไลน์ ทำให้ผู้ประกอบการไทยหลายราย ต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างดุเดือด อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ในส่วนของประเทศไทยนั้น การเติบโตของอีคอมเมิร์ซอยู่ช่วงที่มีอัตราก้าวกระโดด ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสนใจต่อการช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ Temu จากจีนจึงได้เข้ามาเปิดตัวในระยะแรกอย่างเงียบๆ พร้อมกับการสำรวจตลาดไปด้วย หลังจากมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ที่เปิดตัวไปแล้วในปีก่อน นับเป็นประเทศลำดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน แม้ว้าต้องเผชิญกับ เจ้าตลาดเดิมอย่าง Shopee และ Lazada ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดที่ค่อนข้างสูง รวมถึง TikTok Shop ที่มีความคุ้นเคยกับผู้บริโภคชาวไทย และมีฐานลูกค้าในจำนวนไม่น้อย หลังจากการเร่งดำเนินทางการตลาด นำเสนอขายสินค้ามากมายข้ามพรมแดน ไปยังหลายประเทศ พัฒนาการวางระบบโลจิสติกส์ ที่จะทำให้จัดส่งสินค้ามีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดการรีวิวและการให้คะแนนในระดับที่ดีจากลูกค้า ที่ใช้งานจริง

การรับมือจากภาครัฐที่ยังคงไม่ทันกับสถานการณ์

ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานของภาครัฐ ยังขับเคลื่อนไปอย่างช้าๆ ไม่ทันกับการรุกคืบและผลกระทบที่ตามมาในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการป้องกันการเข้ามาครอบงำตลาดในประเทศไทย การรับมือต่อการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มาตรการทางด้านภาษี ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น ระยะยาวให้กับผู้ประกอบการของไทยทั้งขนาดเล็กและกลางต้องเผชิญกับการแข่งขัน โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการธุรกิจจากจีน ที่มีเงินทุนสูง ทำให้ศักยภาพในการ รองรับการผลิตได้อย่างรวดเร็ว ความสามารถในการจัดการต้นทุนได้ดีกว่า

การแก้ไขไม่ให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคา นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ หากผู้บริโภคชาวไทยซึ่งสนใจสินค้าราคาถูก คุณภาพต่ำแต่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคเอง ทั้งในด้านมาตรฐานของสินค้า สารตกค้าง ความรับผิดชอบต่อกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ตลอตจนผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม

การศึกษาบทเรียน และแนวทางแก้ไข

ในขณะที่ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคคนไทยต้องเผชิญสถานการณ์ที่ยังไม่มีมาตรการ เพื่อแก้ไข หรือรับมืออย่างจริงจังจาก ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ที่อาจเกิดขึ้นจากระเบียบ กฏเกณฑ์ กฎหมายที่ล้าสมัย ความรับผิดชอบที่ซ้ำซ้อนกันหลายหน่วยงาน ในขณะที่บางปัญหายังหาผู้รับผิดชอบแก้ไขโดยตรงยังไม่ได้ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจของไทย ที่เกี่ยวข้องในแต่ละส่วน จึงมีความสำคัญต่อการศึกษา ติดตาม เพื่อเตรียมพร้อม ต่อการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ดังกล่าวที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ สมาคมประชาสัมพัยธ์ไทย จึงขอเสนอแนวทางรับมือในด้านต่างๆ ดังนี้

• การสร้างการมีส่วนร่วม

- ควรมีการสร้างการมีส่วนร่วม ทั้งในฝั่งของผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคการศึกษา และองค์กรวิชาชีพ ในการจับมือร่วมกันเพื่อศึกษารวบรวมผลกระทบ และแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน ทั้งในระยะสั้น ระยะยาวยาว เพื่อสรุปผลให้ผู้ที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน

- การวางเครือข่ายที่กว้างขวาง และการสร้างพันธมิตรที่แข็งแรงแนบแน่นในระดับสากล เพื่อให้เกิดความร่วมมือ เพิ่มอำนาจการต่อรองให้มากขึ้น

- ส่งสริมให้เกิดการศึกษา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเข้าถึงความรู้ทักษะ ความเชี่ยวชาญ แหล่งเงินทุนและทรัพยากรต่างๆ ที่ปรึกษา สำหรับการขยายตลาดและโอกาสทางธุรกิจ ของผู้ประกอบการ

- การเผยแพร่ข้อมูลและข่าวสาร มีการติดตาม เฝ้าระวังข้อมูลและข่าวสารแนวโน้มและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ที่เกี่ยวข้อง และสามารถเข้าถึงง่าย

• การพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน

- ผู้ประกอบการในไทยควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ต่อการให้ความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งในด้านเทคโนโลยี และการส่งเสริมนวัตกรรม

- มีการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้มีคุณภาพที่สูงขึ้นกว่าเดิม การสร้างความแตกต่างที่เป็นทั้งรูปธรรม นามธรรม เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ

- การทบทวนกลยุทธ์ทางด้านการตลาดเพื่อรับมือการแข่งขัน โดยเฉพาะการแข่งขันในสงครามราคา และคู่แข่งที่มีศักยภาพสูง

- การพัฒนาทางด้านบุคลากร แรงงานที่มีฝีมือโดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการในระดับนานาชาติ

• การส่งเสริมทางด้านการตลาด แบรนด์ และการสื่อสาร

- การทบทวนยุทธศาสตร์แผนทางด้านการตลาดให้กับประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาตลาดออนไลน์เพื่อส่งเสริมธุรกิจผลิตภัณฑ์ของไทยในต่างประเทศ การทบทวนกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การกำหนดแนวทางการสร้างการรับรู้และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายนั้นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาช่องทางการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ที่มีอยู่เดิม และในระบบอีคอมเมิร์ซ

- การสร้างแบรนด์และการสื่อสารทางตลาดให้แข็งแกร่ง ด้วยการสื่อสารแบรนด์ให้โดดเด่น ด้วยเอกลักษณ์ไทยให้สอดคล้องกับกระแสโลก และการสื่อสาร การส่งเสริมทางการตลาดตามบริบทของการใช้ชีวิตของผู้บริโภคปัจจุบันและอนาคต

ทั้งนี้ สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย มองว่า ในขณะที่ตลาดโลก รวมถึงประเทศไทย ต้องเผชิญกับสถานการณ์แข่งขันที่ดุเดือดและรุนแรงจากจีนในปัจจุบัน และเชื่อว่าในอีกไม่ช้าเราอาจต้องพบกับการเข้ามาของอีกหลายประเทศที่มีต้นทุนและศักยภาพ ที่กำลังแสวงหาโอกาสทางธุรกิจอีกเช่นกัน ซึ่งประเทศไทยในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความร่วมมือ ในการเตรียมความพร้อมและการปรับตัวต่อความท้าทาย เพื่อให้รับมือกับการแข่งขัน และสามารถสร้างโอกาสได้ ในอนาคต


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment