ค่าเงินบาทเปิดเช้า 4 กันยายน 2567 ที่ระดับ 34.27 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 4 กันยายน 2567 ที่ระดับ 34.27 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.24 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทยังคงคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในกรอบ 34.20-34.34 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดการเงิน หลังผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนักอีกครั้ง จากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิต เดือนสิงหาคม ที่แม้จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.2 จุด (ต่ำกว่าที่ตลาดคาด 47.5 จุด) แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับ 50 จุด สะท้อนภาวะหดตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตสหรัฐฯ เป็นเดือนที่ 5 อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็ชะลอลงบ้าง หลังราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถรีบาวด์ขึ้นได้บ้างเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หนุนโดยการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Assets) ท่ามกลางภาวะผันผวนและปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ชัดเจน จากทั้งความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนัก รวมถึงแรงขายบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor นำโดย Nvidia -9.5% ซึ่งมาจากทั้งแรงขายทำกำไรลดความเสี่ยงพอร์ต ความกังวลปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างไต้หวันกับจีน ซึ่งอาจกระทบต่อการผลิตชิพโดย TSMC รวมถึงรายงานข่าว Nvidia เสี่ยงถูกดำเนินคดีผูกขาดตลาด ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -3.26% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -2.12%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงกว่า -0.97% กดดันโดยแรงเทขายบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor เช่นเดียวกันกับฝั่งสหรัฐฯ นำโดย ASML -4.4% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Shell -2.7%, Rio Tinto -2.2% หลังราคาน้ำมันดิบและราคาแร่โลหะต่างปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงนี้ จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีน รวมถึงล่าสุดความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความเสี่ยงที่กลุ่ม OPEC+ อาจเริ่มเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนตุลาคม

ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.83% อีกครั้ง หลังในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 3.90% ทั้งนี้ เรามองว่า ตลาดการเงินในช่วงนี้จะอยู่ในช่วงเผชิญความเสี่ยงผันผวนสองด้าน หรือ Two-Way Volatility ขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอจับตารายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ (ภาคการบริการคิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ) และข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามความต้องการถืองเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินเผชิญภาวะปิดรับความเสี่ยง ทว่า เงินดอลลาร์ก็ยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ เพิ่มเติม อาทิ ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ และข้อมูลการจ้างงาน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 101.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.6-101.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้น ทว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถทยอยรีบาวด์ขึ้นเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 2,525 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) ของสหรัฐฯ รวมถึง รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ หรือ Fed Beige Book ซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนของตลาดแรงงานได้

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทเริ่มเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ามากขึ้น สอดคล้องกับสัญญาณเชิงเทคนิคัลที่ชี้ว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่านั้นมีกำลังมากขึ้น โดยเรามองว่า เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านแถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง และอาจอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ หากบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินในช่วงนี้ ได้กดดันให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม (ในช่วง 3 วันทำการที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นไทยราว -5.4 พันล้านบาท และขายสุทธิบอนด์ไทยราว -1.8 พันล้านบาท) ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ชัดเจน ก็จะเปิดโอกาสให้เงินบาทอาจอ่อนค่าลงต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันดิบ ที่อ่อนไหวกับแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจและประเด็นกำลังการผลิต ก็อาจกดดันเงินบาทเพิ่มเติมได้ จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบในช่วงการปรับฐาน (Correction) อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง เนื่องจากภาวะปิดรับความเสี่ยงในช่วงนี้ ยังพอช่วยหนุนให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัว sideways ไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินในช่วงนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด

อนึ่ง ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ของสหรัฐฯ ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย รวมถึงรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) ในช่วง 01.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ

เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.15-34.35 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment