{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
กลุ่มสมุนไพรสภาอุตสาหกรรมและสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร จับมือ อย. จัดอบรมพัฒนามาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมผู้ผลิตยาสมุนไพรไทย เร่งสางปมแก้ไขโรงงานผลิตสมุนไพร 500 แห่ง เพื่อพิชิตมาตรฐานระดับประเทศ ก่อนยกระดับสู่มาตรฐานอาเซียน และขึ้นสู่เป้าหมายสูงสุดมาตรฐาน GMP เป็นที่ยอมรับระดับโลก หากยกระดับมาตรฐานโรงงาน จะช่วยเพิ่มยอดขายโต 2 เท่า ยกระดับรายได้ทั้งระบบ ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูก โรงงานผลิต และผู้จัดจำหน่าย ดันสมุนไพรขึ้นแท่น Soft Power
ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรในสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาและยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยให้ก้าวสู่สากล กลุ่มสมุนไพร ส.อ.ท. และสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพรได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อพัฒนาโรงงานผลิตยาสมุนไพรไทยให้ได้มาตรการส่งออก หลังพบว่ามีโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานกว่า 500 แห่ง ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกปิดตัว ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างมูลค่าตลาดสมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ และอุตสาหกรรมสมุนไพรเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมมูลค่าสูงที่สำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศให้มีความเข้มแข็งขึ้น โดยภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาโรงงานผลิตยาสมุนไพรให้ได้มาตรฐานสากล สามารถส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศเพื่อช่วยเพิ่มยอดขายให้เติบโตและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร โดยแบ่งออกเป็นระดับต่าง ๆ ตามศักยภาพของโรงงาน เพื่อให้สามารถรองรับการผลิตทั้งในประเทศและการส่งออก 3 ด้าน ได้แก่
1. การพัฒนาโรงงานให้ได้มาตรฐาน PIC/S GMP: สำหรับโรงงานที่มีศักยภาพสูง จะได้รับการสนับสนุนให้ยกระดับมาตรฐานการผลิตสู่ GMP/ PIC/S ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อเปิดโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดโลก
2. การพัฒนาโรงงานให้ได้มาตรฐาน ASEAN GMP: โรงงานส่วนใหญ่จะได้รับการส่งเสริมให้ได้มาตรฐาน GMP ASEAN เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียน
3. การสนับสนุนโรงงานขนาดเล็ก: โรงงานขนาดเล็กจะได้รับการพัฒนาให้ได้มาตรฐานพื้นฐานระดับเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง เพื่อรักษาองค์ความรู้แพทย์แผนไทย และสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ
ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมสมุนไพรไทยกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งในภาวะที่กำลังซื้อชะลอตัวเช่นในปัจจุบันก็จะกระทบต่อยอดขาย ทำให้ผู้ประกอบการด้านสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำ คือเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ไปจนถึงกลางน้ำ คือโรงงานผลิต และปลายน้ำคือผู้จัดจำหน่าย ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่อ่อนลง ขณะที่ตลาดส่งออกนั้นปัจจุบันมีเพียง 1.2 หมื่นล้านบาท สาเหตุหลักที่ทำให้ตัวเลขสัดส่วนการส่งออกยังไม่เติบโตเท่าที่ควร เนื่องจากโรงงานสมุนไพรของไทยยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการยกระดับมาตรฐานการผลิตให้ได้ตามที่นานาชาติกำหนด ซึ่งหากสามารถปรับปรุงมาตรฐานการผลิตให้ได้มาตรฐานสากลก็จะช่วยให้ส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรเติบโตได้ถึง 2 เท่า
อย่างไรก็ตามการจะพึ่งพากำลังซื้อในประเทศอย่างเดียวนั้นถือว่ามีขีดจำกัด และทำให้ไทยเสียโอกาสให้กับประเทศอื่นๆ ดังนั้นกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร ส.อ.ท.ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานส่งเสริมต่าง ๆ เช่น กรมการแพทย์แผนไทยและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางปรับปรุงมาตรฐานอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยอย่างครอบคลุม ทั้งสำหรับโรงงานขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นความพยายามในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับสมุนไพรไทยที่เป็นจุดเด่นของประเทศ และยังเป็นการรักษาและต่อยอด Soft Power ของไทย เช่น การต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่กำลังเติบโตในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ
“ความร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตสมุนไพรไทย แต่ยังเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการ ขยายตลาดไปยังต่างประเทศ รวมถึงการต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอางที่มีสมุนไพรไทยเป็นส่วนประกอบ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่คาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาใช้บริการและซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมากยิ่งขึ้น สมุนไพรไทยไม่เพียงแต่เป็นสมบัติทางวัฒนธรรม แต่ยังเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงอีกด้วย แต่การส่งออกสมุนไพรไทยช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ และสร้างชื่อเสียงให้กับผลิตภัณฑ์ของไทยในตลาดโลก รัฐบาลควรให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีและตลาดที่กว้างขึ้น ” ดร.สิทธิชัย กล่าว
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่าสำหรับความร่วมมือครั้งนี้ อย.จะเข้าไปจัดการอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ประกอบการด้วยการยกระดับไปทีละขั้น โดยจะเริ่มจากการเข้าไปช่วยพัฒนาโรงงานขนาดเล็กให้สามารถยกระดับเป็นระดับประเทศ ด้วยการผ่านมาตรฐานเหรียญทองแดง จากนั้นจะยกระดับไปขั้นต่อไปคือมาตรฐานเหรียญเงิน เพื่อให้สามารถส่งออกไปยังประเทศแถบอาเซียนได้ และหากโรงงานใดมีความพร้อม อย. ก็จะเข้าไปช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้สามารถยกระดับไปสู่
“อย.มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย และเตรียมความพร้อมในการแข่งขันทั้งในตลาดในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการหารือกับสถาบันอาหารเพื่อส่งเสริมการใช้สารสกัดสมุนไพรไทยในผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ในตลาดโลก ความสำคัญของการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย โดยเน้นว่า การพัฒนามาตรฐาน GMP/PIC/S และ GMP ASEAN จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล อีกทั้งยังมีการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาอาหารเสริมที่ใช้สารสกัดจากสมุนไพรไทย โดยทาง อย. ได้ร่วมมือกับสถาบันอาหารเพื่อให้คำแนะนำและสนับสนุนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมไทยในตลาดโลก ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมครั้งนี้เป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย เพื่อให้สามารถก้าวสู่เวทีสากลได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต” นายแพทย์ณรงค์ กล่าว
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS