Krungthai CIO เปิด 6 ธีมลงทุนครึ่งปีหลัง มองตลาดหุ้นยังไปต่อ แนะเกาะกระแสลงทุนในกลุ่ม AI

Krungthai CIO มองการลงทุนในตลาดหุ้นช่วงครึ่งปีหลัง ปรับตัวดีต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก เปิด 6 ธีม สินทรัพย์น่าลงทุน ทั้งตลาดหุ้นสหรัฐ ตลาดหุ้นเกิดใหม่ กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการปฏิรูปเศรษฐกิจญี่ปุ่น แนะเกาะกระแสไปกับกลุ่ม AI ใช้สินค้าโภคภัณฑ์ป้องกันความเสี่ยง ชี้ดอกเบี้ยขาลง หนุนความน่าสนใจของตลาดตราสารหนี้

ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ธนาคารกรุงไทย (Krungthai Chief Investment Office) เปิดมุมการลงทุนช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี เป็นช่วงที่ดีของสินทรัพย์เสี่ยง ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นได้ดี นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นมากกว่า 15% จากแรงหนุนของหุ้นในกลุ่มปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ปรับตัวขึ้นได้โดดเด่น สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ยังคงมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนตลาดหุ้น จากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงขยายตัวได้ดี แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะ Soft Landing หลังตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง ขณะที่ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลายลง แต่เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 5% จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการส่งออกที่ฟื้นตัว แต่ยังมีความเปราะบางของภาคอสังหาฯ และการบริโภคที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ อาจทำให้ตลาดมีความผันผวนในระยะสั้น

Krungthai CIO ได้แนะนำธีมการลงทุนและสินทรัพย์ที่มีความน่าสนใจในช่วงครึ่งปีหลัง ตามลำดับ ดังนี้

1. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวทั่วถึงมากขึ้น หลังในช่วงครึ่งปีแรกกระจุกตัวอยู่ในหุ้นขนาดใหญ่ โดยในช่วงครึ่งปีหลัง Earning breadth ของตลาดน่าจะปรับตัวดีขึ้น ทำให้หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กของสหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นตามหุ้นขนาดใหญ่ นอกจากนี้ หุ้นคุณภาพดี (Quality Growth) ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยี และราคายังไม่แพงเกินไป เป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ

2. เกาะกระแสไปกับ AI การลงทุนใน AI ทำให้กำไรหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มโอกาสในการลงทุนตลอดทั้ง Value Chain จึงแนะนำลงทุนในบริษัทที่จะได้ประโยชน์จาก AI ทั้งธุรกิจต้นน้ำที่ลงทุนด้าน AI หรือโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการขยายตัวของ AI เช่น ธุรกิจ Cloud Data Center แหล่งพลังงานรองรับ AI และบริษัทที่นำ AI ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์

3. การปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มเห็นผล อัตราเงินเฟ้อเริ่มกลับมาขยายตัวที่ระดับเป้าหมาย 2% ค่าจ้างปรับตัวขึ้น ทำให้ค่าจ้างที่แท้จริง (Real Wage ) ปรับตัวขึ้น เพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้บริษัทต่างๆ สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ เป็นปัจจัยหนุนให้บริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มรายได้และกำไรเพิ่มสูงขึ้น

4. ยังมีโอกาสสำหรับตลาดเกิดใหม่ มองว่า เศรษฐกิจจีนผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ภาคอสังหาฯ เริ่มทรงตัว โอกาสเกิดวิกฤติลดลง ซึ่งราคาของหุ้นจีนได้รับรู้ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไปแล้ว อีกทั้งทางการจีนมีโอกาสออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หุ้นจีนจึงมีโอกาสฟื้นตัวต่อ นอกจากนี้ ยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อหุ้นเกาหลีใต้ แนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนแข็งแกร่ง ตามกำไรของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และได้รับแรงหนุนจากแผนการเพิ่มมูลค่าบริษัทจดทะเบียน (Korea Value up Program)

5. สินค้าโภคภัณฑ์ทางเลือกป้องกันความไม่แน่นอน ในช่วงครึ่งปีหลัง ปัจจัยด้านการเมือง และปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์มีความเข้มข้นมากขึ้น ถึงแม้ว่า ในระยะยาว ตลาดจะเคลื่อนไหวตามปัจจัยพื้นฐาน แต่ในระยะสั้นอาจทำให้ตลาดเกิดความผันผวนได้ ดังนั้น อาจเลือกป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตด้วยสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน หรือทองคำ

6. เตรียมพร้อมรับอัตราดอกเบี้ยขาลง วัฏจักรการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ โดยตลาดให้ความสำคัญกับ “ขนาด และ จังหวะ” ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มองว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวพอที่จะเปิดทางให้เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยได้ตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ ทำให้เฟดอาจจะลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ได้ 2 ครั้ง มากกว่า Dot-plot ล่าสุดที่ 1 ครั้ง ทำให้ตราสารหนี้เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น อย่างไรก็ดี ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าอาจเปลี่ยนแปลงไปจากคาดการณ์ว่า จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ 4 ครั้ง หากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่และทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง

สุดท้ายสหรัฐฯจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงต้นเดือนฤศจิกายน จากข้อมูลในอดีต ตลาดมักมีความผันผวน 1-2 เดือนก่อนการเลือกตั้ง การลงทุนควรให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานมากกว่าปัจจัยด้านการเมืองอย่างคำกล่าวที่ว่า “Don’t Vote With Your Portfolio” ดังนั้นหากตลาดมีความผันผวน อยากให้นักลงทุนกลับมาพิจารณาปัจจัยฟื้นฐานเป็นหลัก ซึ่งมองว่ายังเอื้อต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment