กรมการขนส่งทางราง หาแนวทางการขยายหน่วยบริการนวัตกรรมระดับปฐมภูมิ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ดร.พิเชฐ คุณธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และหน่วยงานผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ) ที่ได้มอบหมายให้ ขร. เพื่อหารือพิจารณาแนวทางการขยายหน่วยบริการนวัตกรรมระดับปฐมภูมิ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า รัฐบาลได้มีนโยบายเพื่อยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” รองรับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือ สิทธิตามกฎหมายของคนไทย ที่ใช้ในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขและการแพทย์ เพื่อการรักษาพยาบาล การตรวจวินิจฉัยโรค และการรักษาตั้งแต่โรคทั่วไป จนถึงการรักษาโรคเรื้อรังหรือโรคเฉพาะทางที่มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งสิทธิ 30 บาทนี้จะครอบคลุมสิทธิ์ให้แก่คนไทยที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ที่ยังไม่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งยังไม่ได้รับสิทธิประกันสังคม กลุ่มคนเหล่านี้จะมีสิทธิหลักประกันสุขภาพตามกฎหมาย และสามารถลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่” ผู้มีสิทธิหรือผู้มีบัตรทองนอกจากจะสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลประจำตามสิทธิของตนเอง หรือหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิได้ทุกแห่งแล้ว ยังสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่หน่วยบริการเอกชนในจังหวัดที่เข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทั่วประเทศ

ไม่ว่าจะมีสิทธิบัตรทองอยู่ที่จังหวัดใด ก็สามารถใช้สิทธิได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แค่เพียงมีบัตรประชาชนใบเดียวเท่านั้น เริ่มจากการนำร่องดำเนินการในระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด (แพร่, ร้อยเอ็ด, นราธิวาส และเพชรบุรี) และขยายเข้าสู่ระยะที่ 2 เมื่อมีนาคม 2567 เพิ่มความครอบคลุมอีก 8 จังหวัด (นครราชสีมา นครสวรรค์ พังงา เพชรบูรณ์ สระแก้ว สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ)

ปัจจุบันดำเนินการในระยะที่ 3 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 จะขยายการให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 45 จังหวัด และทุกจังหวัดทั่วประเทศภายในปี 2567 โดยพื้นที่กรุงเทพฯ มีแผนขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมของระบบที่เกี่ยวข้องและคาดว่าจะกิจกรรมประกาศความพร้อม (Kick off) ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2567

การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว สปสช. มุ่งเน้นการขยายหน่วยบริการนวัตกรรมระดับปฐมภูมิรูปแบบอื่น ๆ นอกเหนือจากหน่วยบริการประจำ อาทิ ร้านยา คลินิกเวชกรรม/พยาบาล/ทันตกรรม ศูนย์ให้บริการสุขภาพ เพื่อยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มความเข้มแข็งของระบบบริการปฐมภูมิ และอำนวยความสะดวกประชาชนในการเข้ารับบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน รวมถึงการลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ขร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้หารือร่วมกันถึงแนวทางและความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนการขยายหน่วยบริการนวัตกรรมปฐมภูมิในพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการดูแลสุขภาพของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการตาม “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่” ของรัฐบาล โดยเมื่อมีการขยายหน่วยบริการนวัตกรรมระดับปฐมภูมิ ในพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าของรถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้าสายสีม่วง รวมทั้งพื้นที่สัมปทานของเอกชนผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รถไฟฟ้าสายสีทอง รถไฟฟ้าสายสีเหลืองตลอดจนรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะก่อให้เกิดความคุ้มค่าจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มีการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์ในบริเวณสถานีรถไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด อำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนผู้ใช้บริการพร้อมขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้บริการขนส่งมวลชนทางรางเพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment