สสว. ชูระบบ BDS ช่วยสนับสนุน “SME” เติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

สสว.ย้ำชัด ช่วยหนุน SME กว่า 2 ล้านรายในประเทศเติบโต[pr1] อย่างยั่งยืน เร่งพัฒนาโครงการมากมายเพื่อกระตุ้นให้กับผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและโอกาสในการทำธุรกิจด้วยบริการดี ๆ ที่จะช่วยเหลือ SME ไทย

นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงานรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยว่า บทบาทหน้าที่หลักของสสว.ในปัจจุบัน คือ การส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการ SME ไทย ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศในสัดส่วนคิดเป็นกว่า 99.6% หรือกว่า 2 ล้านราย ของผู้ประกอบการเศรษฐกิจทั้งหมด เพื่อให้เติบโตได้อย่างมั่นคง แข็งแรง และก้าวไปสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้ ทั้งยังเป็นผู้จัดทำแผนนโยบายการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SME ในระดับประเทศด้วย โดยปัจจุบัน สสว. ได้ริเริ่มแผนปฏิบัติการของ สสว.ปี 2567 และแผนระยะยาว 4 ปี พ.ศ.2567-2570

สำหรับปัญหาใหญ่ที่ผู้ประกอบการ SME ประสบมาตลอด ก็คือ การขาดสภาพคล่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ สสว. ตระหนักและให้ความสำคัญ ทำให้ปัจจุบัน สสว. ได้ออกมาตรการและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ประกอบการ SME มีสภาพคล่องและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น เช่น การประสานกับสถาบันที่มิใช่ธนาคาร(Non-Bank) เพื่อออกเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเงินกู้นอกระบบ

“การให้เงินกู้ลักษณะนี้ เป็นการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SME ที่ไม่มีเครดิตหรือมีหนี้เสีย NPL กับธนาคารอยู่ ทำให้ไม่สามารถขอสินเชื่อกับธนาคารได้ การมากู้กับ สสว. และ Non-Bank จึงมีความปลอดภัยกว่าและได้ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าไปกู้นอกระบบ ซึ่งจะช่วยขจัดปัญหาหนี้นอกระบบด้วย”

นางสาวปณิตา ยังระบุว่า เดิมที่ผ่านมานั้น สสว. ได้สนับสนุนงบประมาณผ่านทางหน่วยงานพันธมิตรเพื่อร่วมกันพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการ SME มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยผ่านการทำโครงการต่าง ๆ อีกทั้งยังเข้าไปอุดหนุนดอกเบี้ยของผู้ประกอบการที่กู้กับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME Bank) ด้วย

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน สสว. ได้ออกแบบโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ Business Development Service(BDS) ผู้ประกอบการสามารถเลือกรับบริการเพื่อพัฒนาธุรกิจได้เอง ตามความต้องการของแต่ละธุรกิจ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS โดย สสว. พร้อมจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนา SME แบบร่วมจ่าย (Co-payment) ในสัดส่วนร้อยละ 50-80 วงเงินสูงสุด 200,000 บาท ตามขนาดของธุรกิจ ซึ่งการใช้เงินก็สามารถใช้ได้หลากหลายรูปแบบเพื่อส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการให้ดีขึ้น โดยผู้ประกอบการสามารถสมัครเข้าใช้งานตรงผ่านระบบ BDS ตามวัตถุประสงค์ที่ผู้ประกอบการต้องการ แล้ว สสว.จะเป็นผู้จ่ายเงินอุดหนุนให้เปล่าตามเกณฑ์ของผู้ประกอบการนั้น ๆ สูงสุดถึง 200,000 บาทให้ตามมา โดยคาดว่าถึงกลางปีนี้จะมียอดสนับสนุนงบประมาณส่วนนี้กว่า 150 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการประมาณ 6,000 รายที่ได้รับสิทธิประโยชน์ส่วนนี้

นอกจากนี้ สสว. ยังมีผลิตภัณฑ์และการบริการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SME อีกหลายอย่าง อาทิ

โครงการ SME Coach ที่ สสว. จะเข้าไปประกบเป็นโค้ชช่วยสอนเทรนนิ่งด้านต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SME แบบตัวต่อตัว เช่น วิธีการเพิ่มยอดขาย, วิธีการเพิ่มมูลค่าสินค้าและช่องทางการตลาด

“ถ้าจัดอบรมแค่ 2-3 ชั่วโมง สสว. เห็นว่าคงไม่พอที่จะช่วยผู้ประกอบการได้ เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า ถ้าให้ปลากับคน พอคนนั้นกินปลาเสร็จ ก็หาปลาต่อเองไม่ได้ แต่ถ้าเราสอนวิธีตกปลาด้วย คนนั้นก็จะมีปลากินตลอดไป”

ด้วยแนวคิดนี้ โครงการ SME Coach ของ สสว. จึงเป็นการจัดอบรมเชิงลึกและคอยช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ผู้ประกอบการ SME ในระยะยาวจนกว่าผู้ประกอบการจะดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและเติบโตสู่ตลาดต่างประเทศได้ ผู้ประกอบการจึงมั่นใจได้ว่า หากเข้าร่วมโครงการนี้แล้วจะได้รับการช่วยเหลือและการสนับสนุนที่ดีอย่างต่อเนื่องจาก สสว. อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ยังมีโครงการ SME Connext ที่เป็นแอปพลิเคชันที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงโครงการต่าง ๆ ของ สสว. ได้ง่ายขึ้น ทั้งยังรวบรวมทุกอย่างที่เกี่ยวกับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น บทความ การจับคู่ธุรกิจ หรือกิจกรรมอบรม เสวนาทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจด้วย

โครงการเว็บไซต์ “Hello Thailand” ที่ สสว. จับมือร่วมทำกับภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยและกลุ่มผู้ประกอบการ SME ด้านการท่องเที่ยว โดยตัวเว็บไซต์จะบอกเล่าถึงสถานที่ท่องเที่ยวหรือสถานที่แนะนำในไทยให้นักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวไทยโดยเฉพาะ แล้วจะมีร้านค้าหรือผลิตภัณฑ์ในพื้นที่แนะนำอยู่ในเว็บไซต์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนไปอุดหนุนกลุ่มผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ขณะเดียวกัน สสว. และภาคเอกชนก็จะสามารถจัดเก็บฐานข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคและการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีน เพื่อนำไปวิเคราะห์และพัฒนาให้ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวจีนและผู้ประกอบการไทยให้ดีมากขึ้นด้วย โดยปัจจุบันเว็บไซต์มียอดการมองเห็นแล้วกว่า 1 พันล้านครั้ง

“โครงการนี้จะมีผู้ประกอบการ SME เข้าร่วมประมาณ 150 รายต่อ 1 พื้นที่ คาดการณ์รวมทั้งหมด 40 พื้นที่ เท่ากับจะมีผู้ประกอบการ SME เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 6,000 ราย โดยโครงการเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่เกาะสมุยเป็นที่แรก และในเดือนหน้าจะเปิดตัวที่ย่านบรรทัดทองและเยาวราชต่อไป”

โครงการ Thai SME-GP ที่ช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SME ที่มาลงทะเบียนโครงการนี้กับ สสว. ไว้ ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดในโครงการไปประมูลงานรัฐจะได้แต้มต่อหลายอย่าง เช่น เสนอราคาได้มากกว่ากลุ่มทุนใหญ่ 10% และภาครัฐจะให้เลือกอุดหนุนผู้ประกอบการ SME ก่อน ซึ่งปีที่แล้วผู้ประกอบการสามารถประมูลงานกับภาครัฐได้รวมกันกว่าแสนล้านบาท จึงเป็นอีกโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของ สสว.

นางสาวปณิตา ยังย้ำด้วยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สสว. ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ไปแล้วจำนวนมากและประสบความสำเร็จหลายราย โดยเฉพาะในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมที่เป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของไทย และอนาคตก็จะยังดำเนินการเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการ SME ไทยต่อไป อันเป็นหน้าที่หลักของ สสว. ที่หวังเห็นผู้ประกอบการ SME ไทยประสบความสำเร็จ

“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กลุ่มผู้ประกอบการอัญมณี ที่ สสว. แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์เป็นพลอยแท้ แต่ตัวเรือนใช้เงิน ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนและทำให้สินค้าอยู่ในราคาจับต้องได้ จนทำให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ไปขายที่จีนได้ จนประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามมีสาขาในจีนแล้วมากกว่า 10 สาขา”

สำหรับการจำแนกหลักเกณฑ์กลุ่มผู้ประกอบการ SME หรือที่เรียกอีกชื่อว่า MSME ปัจจุบัน สสว. จำแนกได้ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย

1.กลุ่ม Micro = มีลูกจ้าง 5 คน รายได้ต่อปีของบริษัทไม่เกิน 1.8 ล้านบาท

2.กลุ่ม Small = มีลูกจ้างไม่เกิน 30 คน สำหรับภาคอุตสาหกรรม และไม่เกิน 50 คนสำหรับภาคการค้าและบริการ และรายได้ต่อปีของบริษัทไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี

3.กลุ่ม Medium = มีลูกจ้างไม่เกิน 100 คน สำหรับภาคการค้าและบริการ และไม่เกิน 200 คน สำหรับภาคการผลิต และรายได้ต่อปีของบริษัทอยู่ที่ 300-500 ล้านบาท

[pr1]เติบโต


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment