ดัชนี MPI ก.พ. 2567 หดตัว 2.84%

สศอ. เผยดัชนี MPI ก.พ. 2567 กุมภาพันธ์ ปี 2567 อยู่ที่ระดับ 99.27 หดตัวร้อยละ 2.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตยานยนต์ ลดลงเป็นเดือนที่ 7 เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้าหลังปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการ ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 1.80 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 คาดจะทำให้ดัชนี MPI หลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 อยู่ที่ระดับ 99.27 หดตัวร้อยละ 2.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 59.77 ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ช่วง 2 เดือนแรก ของปี 2567 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.88 สาเหตุหลักจากการผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 7 เป็นการหดตัวจากภายในประเทศ เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้าจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ขยายตัวร้อยละ 1.80 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 รวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยใน 2 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสม อยู่ที่ 6.38 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการกลับมาขยายตัวดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลทำให้ดัชนี MPI หลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น

ระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนมีนาคม 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” ส่งสัญญาณในทิศทางดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในระยะนี้ สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ยังคงต้องเฝ้าระวังในตลาดสหรัฐฯ และติดตามภาวะถดถอยในภาคการผลิตญี่ปุ่น

“ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักที่หดตัวต่อเนื่องและมีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยภาพรวมการผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ลดลงร้อยละ 19.28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงเป็นเดือนที่ 7 สาเหตุหลัก มาจากการผลิตเพื่อขายในประเทศ โดยมีจำนวนการผลิต 46,928 คัน ลดลงร้อยละ 26.37 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่มีการผลิตจำนวน 63,732 คัน ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกมีจำนวน 86,762 คัน ลดลงร้อยละ 9.25 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผลิตได้ 95,612 คัน” นางวรวรรณ กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.59 จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเบนซิน 91 และ แก๊สโซฮอล์ 91 เป็นหลัก ตามความต้องการบริโภคในภาคขนส่งและเดินทางท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39.82 จากการทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรมีกำลังซื้อมากขึ้น

เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.56 โดยขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทำให้มีคำสั่งซื้อและส่งออกไปประเทศคู่ค้าสำคัญได้มากขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.83 จากบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนตัว ตลอดจนสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 18.66 จากผลิตภัณฑ์ Integrated circuits (IC) และ PCBA ตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง

น้ำมันปาล์ม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 27.23 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากภาวะภัยแล้งฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้มีผลปาล์มดิบลดลงกว่าปีก่อน การหดตัวของตลาด ในประเทศและตลาดส่งออก หลังอินโดนีเซียกลับมาส่งออกอีกครั้งทำให้ราคาในตลาดโลกปรับตัวลดลง


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment