พานาโซนิค จับมือพันธมิตร คิกออฟเดินเครื่องรีไซเคิลถ่านไฟฉายที่ใช้แล้ว เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

พานาโซนิค เอเนอร์จี (ประเทศไทย) จับมือ ยูเอ็มซี เม็ททอล และซีพี ออลล์ ร่วมประกาศความสำเร็จ “โครงการรีไซเคิลถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)” ใช้เทคโนโลยีเตาเผา ECOARC™ หลอมถ่านไฟฉายใช้แล้วเพื่อแยกเอาวัสดุกลับมาสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ โดยเป็นเทคโนโลยีเฉพาะที่ใช้กับถ่านไฟฉายของพานาโซนิคเท่านั้น เนื่องจากเป็นถ่านไฟฉายที่ไม่มีสารอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังต่อยอดความร่วมมือกับร้านค้าเซเว่น อีเลฟเว่น ตั้งเป้าหมายเพิ่มจุดรับถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วเป็น 1,000 สาขาภายในปี 2567 เพื่อนำถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

มร.ทาคุยะ ทานิโมโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค เอเนอร์จี (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ในแต่ละปี ประเทศไทยมีปริมาณการบริโภคถ่านไฟฉายกว่า 300 ล้านชิ้น ที่ผ่านมาถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วมักถูกทิ้งหรือทำลายโดยการฝังกลบ ซึ่งการทิ้งถ่านโดยไม่คัดแยกก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันพื้นที่ในการฝังกลบก็มีจำกัด พานาโซนิค เอเนอร์จี จึงได้มีแนวคิดในการรับคืนถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วจากผู้บริโภค เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี และนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดมูลค่าใหม่ในระบบเศรษฐกิจ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy

“พานาโซนิค เอเนอร์จี ได้พยายามมองหาพันธมิตรที่มีแนวคิดสอดคล้องกัน โดยเริ่มจากการส่งตัวอย่างถ่านไฟฉายให้กับโครงการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีรีไซเคิลถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วและของเสียจากกระบวนการผลิตถ่านไฟฉาย ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม และนำมาสู่การขยายผลความร่วมมือกับ ยูเอ็มซี เม็ททัล (UMC Metals) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการรีไซเคิลเหล็ก โดยทำการรีไซเคิลเศษโลหะและเศษวัสดุที่ไม่ใช่โลหะสำหรับโครงการนี้ อีกทั้ง พานาโซนิค เอเนอร์จี ยังได้ร่วมมือกับซีพี ออลล์ จัดตั้งจุดบริการรับทิ้งถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วณ ร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น โดยเริ่มจาก 31 สาขา ในปี 2565 และเพิ่มเป็น 50 สาขา ในปี 2566

“ขณะนี้ พานาโซนิค เอเนอร์จี ได้รับอนุญาตกระบวนการรีไซเคิลวัสดุจากถ่านไฟฉายให้เป็นเหล็ก จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงพร้อมเดินหน้า “โครงการรีไซเคิลถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)” ได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยการนำถ่านไฟฉายใช้แล้วไปหลอมรวมกับเศษเหล็กอื่น ๆ ด้วยเตาหลอมเหล็ก ECOARC™ ที่มีเทคโนโลยีประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ได้จากการหลอมนอกจากเหล็กแท่งที่สามารถนำมาขายต่อในอุตสาหกรรมเหล็กได้แล้ว ยังมีวัสดุที่สามารถนำกลับมาสร้างคุณค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อีก เช่น ตะกรันเหล็ก ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการถมที่พื้นที่ทั่วไป และ EAF หรือ ฝุ่นแดง สามารถนำมารีไซเคิลเป็นซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) ซึ่งพานาโซนิคกำลังศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำกลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตถ่านไฟฉายใหม่อีกครั้ง

การดำเนินโครงการครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่บรรลุผลสำเร็จในการรีไซเคิลถ่านไฟฉายใช้แล้ว ช่วยลดปริมาณขยะในระบบนิเวศน์ และสามารถนำผลิตภัณฑ์กลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ ซึ่งถือเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อย่างแท้จริง” มร.ทานิโมโตะ กล่าว

ทางด้าน นายเศรษฐวุฒิ ยินมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอ็มซี เม็ททอล จำกัด กล่าวว่า “ยูเอ็มซี เม็ททอล เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กเส้นคุณภาพมาตรฐานอุตสาหกรรม มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการหลอมเหล็กมาเป็นเวลานาน สำหรับโครงการ “รีไซเคิลถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)” นี้ ใช้กระบวนการหลอมถ่านไฟฉายร่วมกับเศษเหล็กอื่น ๆ ด้วยเตาหลอม ECOARC™ ซึ่งเป็นต้นแบบเตาหลอมประสิทธิภาพสูง ที่ได้รับการพัฒนาจากประเทศญี่ปุ่นโดยเน้นในเรื่องการประหยัดพลังงาน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สามารถบำบัดมลพิษ และกำจัดสารไดออกซิน ก่อนปล่อยสู่อากาศ โดยตั้งอยู่ที่ ยูเอ็มซี เม็ททอล จ. ชลบุรี เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐบาลญี่ปุ่น โดยองค์กรพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO)

สำหรับถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วที่รวบรวมจากจุดรับทิ้งถ่านไฟฉายหน้าร้านเซเว่น อีเลฟเล่น จะถูกขนส่งมายัง ยูเอ็มซี เม็ททอล ในจังหวัดชลบุรี เพื่อเข้าสู่กระบวนการหลอมรวมกับเศษเหล็กในอัตราส่วนที่กำหนด และส่งเข้าเตาหลอม ECOARC™ โดยใช้รถยกตะแกรง (Skip car) และเมื่อกระบวนการหลอมเสร็จสิ้นลง จะได้ออกมาเป็นน้ำเหล็ก และถูกส่งต่อไปยังเตาปรุงน้ำเหล็ก เพื่อปรับค่าเคมีของเหล็ก ก่อนจะนำไปหล่อเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กแท่ง (Billet) เพื่อส่งขายในอุตสาหกรรมเหล็กต่อไป

ความพิเศษของเตาหลอม ECOARC™ คือ สามารถกรองของเสียต่าง ๆ และนำมาแปรรูปกลับให้เป็นวัสดุที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจได้ ได้แก่ ตะกรันเหล็ก (Slag) นำไปเป็นวัสดุทดแทนการก่อสร้างทำถนนและถมที่ทั่วไป สนิมเหล็ก (Scale) นำไปเป็นวัตถุดิบปูนซีเมนต์ และฝุ่นแดง (EAF Dust) ซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลเป็นซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) รวมถึงการกรองมลพิษ กรองฝุ่น (Bag House Filter) ก่อนปล่อยสู่อากาศ” นายเศรษฐวุฒิ กล่าว


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment