{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) หรือ “อาเซียน” เกิดขึ้นเมื่อ 51 ปีก่อน
รัฐบาลไทย โดยพันเอก ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเชิญผู้แทนจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ให้มาพบปะเพื่อร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ จัดตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ พระราชวังสราญรมย์ กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510
จุดประสงค์แรกเริ่มของอาเซียน เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านสันติภาพ ความมั่นคง เศรษฐกิจ องค์ความรู้ สังคมวัฒนธรรม บนพื้นฐานความเท่าเทียมกันและผลประโยชน์ร่วมกันในระยะยาวของประเทศสมาชิกในภูมิภาค ภายใต้ภาวะสงครามเย็นที่ประเทศเพื่อนบ้านต่างหวาดระแวงไม่ไว้วางใจต่อกัน
ช่วงแรกในการรวมตัวของอาเซียน เป็นช่วงวางกรอบการทำงาน ความร่วมมือต่างๆ จึงไม่ค่อยมีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมมากนัก กระทั่งปี 2520 ทิศทางการดำเนินงานของอาเซียนก็เริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อมีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งแรก ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ได้ลงนามในปฏิญญาสมานฉันท์อาเซียน และสนธิสัญญาความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอาเซียนเกิดขึ้นอีกครั้ง ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 4 เมื่อเดือนมกราคม 2535 ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น ให้เริ่มจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของอาเซียน
จากนั้นในปี 2546 ผู้นำอาเซียนได้ลงนามร่วมกันในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ฉบับที่ 2 เห็นพ้องกันที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียน เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิด และเพื่อสร้างความแข็งแกร่งรวมถึงอำนาจต่อรองให้กับประเทศสมาชิก
และด้วยยุทธศาสตร์การก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ได้รับการผลักดันมาอย่างต่อเนื่องให้เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน เป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน มีการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก เพื่อจะนำไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์
โดยนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 เป็นต้นมา ประเทศสมาชิกอยู่ภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน ที่เรียกว่า กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ที่กำหนดให้แต่ละประเทศสมาชิก จัดตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ 3 เสาหลัก คือ เสาเศรษฐกิจ เสาการเมือง เสาสังคมวัฒนธรรม ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
จากจุดเริ่มต้นการก่อตั้งอาเซียน เมื่อ 51 ปีก่อน สมาชิกร่วมก่อตั้ง 5 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเพียง 2,318 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน อาเซียนกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขนาดเศรษฐกิจของ 10 ประเทศสมาชิกรวมกัน สูงถึง 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นหนึ่งในกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่กลุ่มหนึ่งของโลก
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS