สรรพสามิตย้ำพลิกบทบาทสู่กรม ESG เน้นนโยบายภาษีสิ่งแวดล้อม สังคม เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

กรมสรรพสามิต ตอกย้ำการพลิกบทบาทสำคัญก้าวสู่กรม ESG ชูยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ดูแลสุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ

ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยในโอกาส วันสถาปนากรมสรรพสามิต ครบรอบ 92 ปี ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตมีบทบาทสำคัญในการดำเนินมาตรการภาษีสรรพสามิตเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ดูแลพี่น้องประชาชน รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศให้ยั่งยืน โดยไม่ได้มุ่งเน้นการจัดเก็บภาษีเพียงอย่างเดียว

กรมสรรพสามิตได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายที่สนับสนุนสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG โดยในปี 2565 กรมสรรพสามิตได้ประกาศบทบาทใหม่ ที่สำคัญเป็นกรม ESG เพื่อให้การดำเนินงานของกรมฯสอดรับกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม การปรับตัวที่รวดเร็วของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยนำกลยุทธ์ EASE Excise เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ (Purpose) ของกรมสรรพสามิตที่ต้องการ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรรมาภิบาล สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน”

ภายในงานได้มีการจัดเสวนาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “92 ปี ก้าวแห่งความมั่นคง ก้าวสู่กรม ESG” โดยมีอดีตอธิบดีกรมสรรพสามิตขึ้นร่วมเสวนา ประกอบด้วย ดร.อรัญ ธรรมโน ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ คุณสมใจนึก เองตระกูล คุณศานิต ร่างน้อย ดร. อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม คุณสมชาย พูลสวัสดิ์ คุณกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และคุณลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง โดยมี ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดี กรมสรรพสามิต เป็นผู้ดำเนินรายการ

การเสวนาในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับบทบาทของกรมสรรพสามิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในช่วงเวลาต่างๆ เช่น บทบาทของกรมสรรพสามิตในการจัดเก็บภาษีสินค้าบาป (sin tax) การปฏิรูประบบจัดเก็บภาษีสรรพสามิตกับการใช้ราคาขายปลีกแนะนำในปี 2560 จนมาถึงปัจจุบันที่บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบได้เปลี่ยนเป็นกรมฯ ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายที่สนับสนุนสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล หรือ ESG ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ ดูแลและยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน

ดร. เอกนิติฯ กล่าวว่า กรมสรรพสามิตให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

และสังคมที่มีคุณภาพ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล โดยในปีงบประมาณ 2566 กรมสรรพสามิตได้ดำเนินมาตรการที่สำคัญ ดังนี้

1. ดำเนินมาตรการลดภาษีน้ำมันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงระดับราคาน้ำมันสูงและได้ยกเว้นภาษีสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันเพื่อนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ราคาก๊าซธรรมชาติสูงผิดปกติอันเป็นผลมาจากสงครามรัสเซียและยูเครน โดยในปี 2566 กรมสรรพสามิตได้สูญเสียรายได้จากการดำเนินมาตรการดังกล่าวกว่าแสนล้านบาท เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน

2. ดำเนินมาตรการปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานในอัตราก้าวหน้าตามปริมาณน้ำตาล มาตรการนี้ได้ส่งผลให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มที่อยู่ในพิกัดภาษีสรรพสามิตปรับลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มลงอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ได้ลดปริมาณการผลิตลง เหลือเพียง 46 ล้านลิตร ในปี 2566 จาก 819 ล้านลิตรในปี 2561 ผลของมาตรการนี้จะส่งผลให้ประชาชนบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยลงและลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบาหวานและโรคที่เกี่ยวข้อง

3. ดำเนินมาตรการสรรพสามิตเพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Zero Emission Vehicle: ZEV) ตามมาตรการ EV 3.0 ส่งผลให้ในปี 2566 ประเทศไทยมีการจดทะเบียนรถยนต์ ZEV จำนวน 76,739 คัน เติบโตจากปี 2565 ถึงร้อยละ 646 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในอาเซียน ในขณะที่ประเทศไทยมียอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 21,677 คัน เติบโตจากปี 2565 ถึงร้อยละ 125 นอกจากนี้ เงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนดให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการต้องผลิตรถยนต์ EV ในไทยชดเชยและมาตรการส่งเสริมการลงทุนทำให้การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนกว่า 6.1 หมื่นล้านบาท

4. ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์เพื่อปราบปรามผู้กระทำผิดที่หลบเลี่ยงการเสียภาษีสรรพสามิต โดยในปี 2566 ผลการปราบปรามคดีทั่วประเทศมีจำนวน 26,056 คดี สูงกว่าเป้าหมายจำนวน 7,531 คดี หรือ คิดเป็นร้อยละ 40.7

5. นำแนวคิดกระบวนการออกแบบเชิงระบบ (design thinking) และ User Experience (UX) มายกระดับการให้บริการทางดิจิทัลของกรมสรรพสามิตเพื่อให้ผู้เสียภาษี โดยในปัจจุบันมีผู้เสียภาษีถึงร้อยละ 96 ของผู้เสียภาษีสรรพสามิตทั้งหมดได้ดำเนินการชำระภาษีผ่านทางระบบ e-service ส่งผลให้กรมสรรพสามิตได้รับรางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ (Super เลิศรัฐ) และรางวัลผู้นำองค์กรภาครัฐดิจิทัลดีเด่น ประจำปี 2566

ดร. เอกนิติฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2567 กรมสรรพสามิตได้รับมอบหมายให้จัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตสูงถึง 598,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.5 แต่ด้วยภารกิจที่ได้รับมอบหมายในการช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชนผ่านการลดอัตราภาษีน้ำมัน รวมทั้งการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยมาตรการภาษีสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าโดยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตยานยนต์ไฟฟ้า เช่น อัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของกรมฯ แต่อย่างไรก็ดี กรมสรรพสามิตได้มีการกำหนดกลยุทธ์ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตโดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมายกระดับประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เช่น การปรับระบบสำแดงราคาขายปลีกแนะนำของสินค้าสรรพสามิตให้เป็นปัจจุบันสะท้อนราคาที่แท้จริง และกรมสรรพสามิตได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมรายใหม่เข้าสู่ระบบภาษีเพิ่มขึ้นด้วยการพัฒนาให้ระบบการชำระภาษีสรรพสามิตเป็นเรื่องง่ายสามารถทำที่ไหนก็ได้ ซึ่งจะช่วยกระจายฐานการจัดเก็บภาษีให้กว้างขึ้นและช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับระบบภาษีของประเทศ

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังมีแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ EASE Excise อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

1. ด้านนโยบาย ESG จะมุ่งเน้นนโยบายภาษีสรรพสามิตที่ส่งเสริมภาษีสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ได้แก่ มาตรการภาษีคาร์บอน (carbon tax) นโยบายส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.5 มาตรการปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีรถยนต์เพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ

2. ด้านพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ จะมุ่งเน้นการยกระดับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ทำงานได้คล่องตัว (Agile ways of working) และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในอนาคต (Future Skills) เช่น AI และ Data Analytics รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรให้เก่ง ดี มีความสุข

3. ด้านพัฒนากระบวนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้มีมาตรฐาน (Standardization) เช่น การวางมาตรฐานธรรมาภิบาลข้อมูล และวางมาตรฐานการปราบปรามผู้กระทำผิดเชิงรุกกับหน่วยงานปราบปรามที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการทบทวนกฎหมายภาษีสรรพสามิตที่บังคับใช้ในปัจจุบันหรือยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยหรือลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น (Regulatory Guillotine)

4. ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการให้บริการแบบไร้รอยต่อ (End-to-end Service) เพื่อให้ประชาชนผู้รับบริการได้รับความสะดวกและเจ้าหน้าที่เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่รวดเร็ว เพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่ดีกับการให้บริการของกรมสรรพสามิต ิต


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment