สินเชื่อปี 2567รออานิสงส์เศรษฐกิจฟื้น หนุนสินเชื่อกลับมาเติบโตในกรอบ 2.5-3.5%

สินเชื่อระบบแบงก์ไทยปี 2566 เติบโตในระดับต่ำ โดยยอดคงค้างสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (ระบบแบงก์ไทย 17 แห่ง) ปิดสิ้นปี 2566 ที่ระดับประมาณ 14.8 ล้านล้านบาท หรือเติบโตเพียง 0.2% ชะลอลงจากที่เติบโต 2.7% ในปี 2565 ทั้งนี้ การชะลอลงของทิศทางสินเชื่อสอดคล้องไปกับภาพการฟื้นตัวที่ไม่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ซึ่งมีผลชะลอการเบิกใช้สินเชื่อใหม่ ประกอบกับมีแรงกดดันจากการทยอยชำระคืนสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อภาครัฐ ธุรกิจรายใหญ่ (ซึ่งมีการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงินในช่วงอัตราดอกเบี้ยในประเทศเป็นขาขึ้น และนำเงินทุนบางส่วนมาชำระคืนหนี้กับสถาบันการเงิน) และ SMEs รวมถึงการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ในพอร์ต อาทิ การตัดหนี้สูญ และการตัดขายสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง

ในปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การเติบโตของสินเชื่อน่าจะยังจำกัดอยู่ในกรอบ 2.5-3.5% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของสินเชื่อที่ 4.2% ในช่วงระยะ 5 ปีก่อนเกิดวิกฤตโควิด 19 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แรงกดดันจากการชำระคืนสินเชื่อดังที่เห็นในช่วงหลังโควิด 19 ในปี 2565-2566 น่าจะทยอยผ่อนคลายลงในปี 2567 อย่างไรก็ดี การเติบโตของสินเชื่อในปี 2567 ยังขึ้นอยู่กับหลายตัวแปรสำคัญ โดยเฉพาะแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องต่อการเบิกใช้สินเชื่อและการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ รวมถึงการเดินหน้า “กระบวนการการปล่อยสินเชื่อ” ภายใต้แนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม หรือ Responsible Lending ซึ่งเริ่มมีผลแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา

โดยในส่วนการดูแลลูกหนี้ภายใต้เกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมนั้น ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีกระบวนการที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมในหลายส่วน อาทิ การปรับปรุงและนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของลูกค้า การปรับโมเดลการพิจารณาสินเชื่อที่คำนึงถึงเงินเหลือสุทธิหลังหักภาระผ่อนชำระหนี้ทั้งหมด การเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีแนวโน้มเป็นหนี้เรื้อรัง และ/หรือเริ่มมีสัญญาณผิดนัดชำระ ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่เป็น NPL ไปแล้วก่อนกระบวนการโอนขายหนี้

ทั้งนี้ แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของการทยอยเบิกใช้สินเชื่อของภาคธุรกิจในช่วงปลายปี 2566 โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน แต่การฟื้นตัวของสินเชื่อเพื่อการลงทุนของภาคธุรกิจยังขาดความต่อเนื่อง ขณะที่กรอบการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยเรื่องรายได้ของภาคครัวเรือนและกำลังซื้อที่ยังไม่กลับมาเป็นปกติ

นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังระมัดระวังความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ และอยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาคุณภาพหนี้ของสินเชื่อรายย่อยบางประเภท เช่น สินเชื่อในกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอาจเติบโตได้ในกลุ่มกำลังซื้อสูง หรือมีภาระหนี้เดิมในระดับต่ำเท่านั้น

ประเด็นติดตามที่สำคัญในปี 2567 จะเป็น 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) มาตรการการดูแลลูกหนี้ของทางการ 2) ความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างหนี้และการแก้หนี้เรื้อรังตามเกณฑ์ Responsible Lending และ 3) การจัดการปัญหาการด้อยคุณภาพของสินเชื่อในเชิงรุกของสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความไม่แน่นอนของจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment