เปิดตัวระบบบัตร EMV เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง-ม่วง สูงสุด 20 บาทตลอดสาย

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ฃเปิดระบบบัตร EMV คิดค่าโดยสารเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง-ม่วง สูงสุด 20 บาทตลอดสาย เริ่ม 30 พ.ย.นี้ พร้อมลงพื้นที่ ติดตามความคืบหน้าเปิดเดินรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – หัวหิน ณ จังหวัดราชบุรี ประเดิมเปิดใช้งาน ระยะแรก 15 ธ.ค.นี้

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ทดสอบระบบการเดินทางข้ามระบบโดยใช้บัตร EMV contactless เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางรถไฟฟ้าสายสีแดง -รถไฟฟ้าสายสีม่วง ณ สถานีบางซ่อน ในอัตราค่าโดยสารรวมกันสูงสุด20 บาทตลอดสาย พร้อมทั้งยังได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – หัวหิน จังหวัดราชบุรี เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2567 โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ และผู้บริหารการรถไฟฯ ให้การต้อนรับ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ทดสอบการเดินทางข้ามระบบโดยใช้บัตร EMV contactless เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง -รถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นการดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ได้อนุมัติให้กระทรวงคมนาคม ดำเนินมาตรการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางแก่ประชาชน ซึ่งในระยะแรกได้เริ่มดำเนินการในส่วนของรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - สถานีรังสิต และ ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์–สถานีตลิ่งชัน และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม หรือ MRT สายสีม่วง ช่วงคลองบางไผ่ - เตาปูน สูงสุดสายละ 20 บาท

ดังนั้น เพื่อเป็นการต่อยอดนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” จึงได้เพิ่มการอำนวยความสะดวก และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางแก่ประชาชน โดยตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป จะเริ่มคิดค่าโดยสารให้แก่ผู้ที่เดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟชานเมืองสายสีแดง กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่สถานีบางซ่อน และชำระค่าโดยสารผ่านทางบัตร EMV (Europay, MasterCard, VISA) หรือบัตรเครดิต และบัตรเดบิตที่เข้าร่วมให้คิดค่าโดยสารรวมกันสูงสุดไม่เกิน 20 บาทต่อเที่ยว

จากนั้นในวันเดียวกัน ได้เดินทางลงพื้นที่ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการเปิดเดินรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – หัวหิน ซึ่งเป็นโครงการรถไฟทางคู่สายสำคัญ ของเส้นทางรถไฟสายใต้ โดยปัจจุบันภาพรวมการดำเนินงานการก่อสร้างงานโยธา มีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 97 เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้มอบนโยบายให้การรถไฟฯ เร่งรัดก่อสร้างโครงการ และสามารถเปิดใช้งานเปิดใช้ทางคู่ในช่วงแรก ระหว่างสถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จังหวัดชุมพร รวมระยะทาง 348 กิโลเมตร ได้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ส่วนช่วงที่สอง ระหว่างสถานีนครปฐม – บ้านคูบัว มีแผนที่จะเปิดใช้ทางคู่ประมาณช่วงเดือนเมษายน 2567 ขณะที่งานสะพานกลับรถ (U-Turn)/สะพานข้ามทางรถไฟ (Overpass) ได้มีการเปิดใช้งานและยกเลิกทางข้ามเสมอระดับทางรถไฟ จำนวน 24 แห่งจากทั้งหมด 30 แห่ง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ให้กับพี่น้องประชาชนได้อีกทางหนึ่งด้วย

ในโอกาสนี้ ยังได้ติดตามและมอบนโยบายให้การรถไฟฯ เร่งรัดการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง และเครื่องสูบน้ำบริเวณอุโมงค์ทางลอดใต้ทางรถไฟในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกบ ปากแรต นครชุมน์ และหลังวัดดอนตูม โดยขณะนี้การรถไฟฯ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราว ในระหว่างที่รอการติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำถาวร ที่ถูกลักลอบขโมยไป โดยจะติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำถาวรทั้งหมด 4 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2566 จากนั้นได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก เพื่อรับฟังผลการดำเนินงาน เรื่องการใช้สิทธิเหนือพื้นดินในโครงการรถไฟทางคู่ช่วงพื้นที่จังหวัดราชบุรี และรถไฟสายธนบุรี - น้ำตก (กาญจนบุรี) ซึ่งปัจจุบันได้มีหน่วยงานราชการในจังหวัดราชบุรี ขอใช้พื้นที่ของการรถไฟฯ จัดทำพื้นที่สาธารณะประโยชน์ อาทิ สวนหย่อม ถนนคูคลอง ทางระบายน้ำ ในย่านสถานีรถไฟ คลองส่งน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 27 แห่ง จึงได้มอบให้การรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินการในด้านต่างๆ ให้แล้วเสร็จ

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ จะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2567 ซึ่งนับเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงการเจริญเติบโตสู่ภูมิภาค ตลอดจนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย และเป็นการพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศครั้งสำคัญ ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาคอาเซียนในอนาคตอันใกล้


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment