AAI คาดปั๊มยอดขายปี 66 ได้ 5.5 พันล้าน ลุ้นโค้งสุดท้าย

เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ AAI ประเมินผลงานทั้งปีทำรายได้ที่ 5.5 พันล้านบาท เตรียมปรับแผนขยายกำลังการผลิตสำหรับสายการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงและเดินหน้าลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตสินค้าต่อเนื่อง

นายเอกราช พรรณสังข์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทฯ คาดว่ายอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยมีสัญญานตั้งแต่ช่วงกลางไตรมาสที่ 3/2566 ที่ผ่านมา และคาดการณ์ยอดขายรวมสำหรับปี 2566 จะทำได้ที่ราว 5.5 พันล้านบาท และสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นอยู่ที่ 12 – 14% โดยเป็นรายได้จากกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงราว 4.4 พันล้านบาท ลดลงจากกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงที่กลุ่มบริษัทฯ รับจ้างผลิตให้กับลูกค้าเจ้าของแบรนด์ในตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป ในขณะที่คาดการณ์ว่า ยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยง แบรนด์ของตนเองในประเทศไทยจะเติบโตได้เล็กน้อยจากการที่ตลาดในประเทศมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น และคาดการณ์รายได้จากกลุ่มอาหารพร้อมรับประทานบรรจุภาชนะปิดผนึกอยู่ที่ 1.1 พันล้านบาท ตามแผนกลยุทธ์ แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากราคาปลาทูน่าที่อยู่ในระดับสูงมาตลอดทั้งปี

โดยกลุ่มบริษัทฯ คาดการณ์ว่าในปี 2567 ยอดขายกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงจะกลับมาเติบโตเมื่อเทียบกับปีนี้ ทั้งจากลูกค้ารายใหม่ และลูกค้ารายปัจจุบัน สอดรับกับกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นในเดือนมกราคมปีหน้าอีก 6,500 ตัน ทำให้ AAI มีกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกในช่วงต้นปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 56,000 ตัน ทั้งนี้ บริษัทกำลังเร่งปรับแผนขยายกำลังการผลิต และคาดว่าจะลงทุนก่อสร้างคลังสินค้าเพิ่มในราวกลางปีหน้า และเดินหน้าลงทุนสร้างอาคารผลิตแห่งใหม่ในช่วงปี 2568

“ภาพรวมไตรมาส 3/2566 เริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้น จากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) ซึ่งมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ประมาณ 83% โดยมีตลาดที่สำคัญในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงคือ ตลาดอเมริกา และตลาดยุโรป มองในปีหน้าตลาดต่างประเทศยังเติบโตได้เพราะยังเป็นเมกะเทรนด์แม้ว่าจะไม่คึกคักเท่ากับช่วงปี 2565 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ตนเองนั้น AAI ชูกลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์เจ้าของสัตว์เลี้ยง และตอบรับเทรนด์ใหม่ๆ ที่สามารถแข่งขันกับแบรนด์ชั้นนำอื่นๆ ได้ ในด้านธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน (Human Food) ในไตรมาสที่ 3 มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ราว 16% โดยตลาดที่สำคัญยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และญี่ปุ่นบางส่วน” นายเอกราช กล่าว

อนึ่งผลประกอบการรวมสำหรับไตรมาส 3/2566 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2566 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,359 ล้านบาท ลดลง 30.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีรายได้อยู่ที่ 1,958 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมียอดขายลดลงมาก เนื่องจากระบบการขนส่งระหว่างประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้ Lead Time ในธุรกิจปรับลดลง ปริมาณสินค้าคงเหลือในประเทศปลายทางมีมาก ต้องมีการบริหารสต็อกสินค้าคงเหลือ ซึ่งเห็นผลกระทบมาตั้งแต่ไตรมาส 4/2565 แต่เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นในไตรมาส 3/2566 ในขณะที่กลุ่มธุรกิจอาหารพร้อมรับประทานบรรจุภาชนะปิดผนึกมียอดขายอยู่ในระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่กำไรสุทธิไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 118 ล้านบาท ลดลง 39.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 195 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการที่ยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นลดลง แม้ว่ามีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงมากกว่า 20% ไม่มีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย ทั้งยังมีรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินฝากธนาคารและเงินให้บริษัทแม่กู้ยืม อีกทั้งมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากความพยายามในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรัดกุม อย่างไรก็ดี ผลประกอบการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2566 ที่มีกำไรสุทธิเพียง 26 ล้านบาท

สำหรับงวด 9 เดือนแรก 2566 AAI มีรายได้อยู่ที่ 3,945 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิทำได้ 217 ล้านบาท ผลงานลดลงด้วยแรงกดดันจากการที่มียอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นลดลงมาก แม้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร และต้นทุนเงินทุนลดลง


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment