การส่งออกไทยในเดือนพ.ค.66 หดตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราชะลอลงที่ -4.6%

ในเดือนพฤษภาคม 2566 การส่งออกไทยยังคงถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยหดตัวที่ -4.6%(YoY) นับเป็นการหดตัว 8 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยในเดือนนี้หดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วนถึง 78% ของการส่งออกทั้งหมด สามารถกลับมาขยายตัวได้ 1.5%(YoY) ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ และยูโรโซน กลับมาขยายตัวได้ในเดือนนี้ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญเป็นหมวดหมู่ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำและไดโอด ที่ขยายตัวได้ด้วยหลายปัจจัยประกอบกัน ได้แก่ ฐานในปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับค่อนข้าต่ำเนื่องจากการเผชิญปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลกของเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงสินค้าที่สอดคล้องกับการทำงานในลักษณะทำงานที่บ้าน (work from home) และกระแสลดโลกร้อนอย่างโซลาเซลล์ยังเป็นที่ต้องการ อีกทั้ง สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นก็ได้หนุนอุปสงค์ของเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเครื่องปรับอากาศให้ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสำคัญอื่น ๆ ยังหดตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลง ได้แก่ ญี่ปุ่นหดตัวในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เป็นต้น และอาเซียนหดตัวในกลุ่มสินค้าปิโตรเลียม เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เป็นต้น

นอกจากนี้ การส่งออกไปยังตลาดจีนในเดือนพฤษภาคม 2566 กลับหดตัวลึกถึง -24.0%(YoY) โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหดตัวดังกล่าวมาจากการส่งออกที่ลดลงของสินค้าเกษตรอย่างผลไม้สดและแห้ง เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไยอบแห้ง เป็นต้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลไม้หมดฤดูกาลในแถบภาคตะวันออกจึงส่งผลให้ผลผลิตลดลง ประกอบกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง อาทิ เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้หลังยกเลิกมาตรการควบคุมโควิดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา จึงถูกคาดหวังว่าจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญของภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2566 ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอื่น ๆ แต่จากข้อมูลเชิงเศรษฐกิจที่ผ่านมาสะท้อนถึงความท้าทายของการส่งออกสินค้าไปยังตลาดจีนที่มีมากขึ้น ได้แก่

1) ปัจจัยภายในประเทศของจีน โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ไม่แรงเท่าที่คาดการณ์ และเริ่มเห็นสัญญาณการสูญเสียโมเมนตัมของในฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเนื่องจาก ยังมีประเด็น ภายในประเทศที่ยังต่อเนื่องมาจากปีที่ผ่านมา เช่น ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาระหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น เป็นต้น สะท้อนผ่านตัวเลขเศรษฐกิจของจีนสำคัญในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้แก่ ยอดการค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 12.4% และ 8.8% ตามลำดับ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 48.8 เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน อัตราการว่างงานของแรงงานที่มีอายุระหว่าง 16-24 อยู่ที่ 20.8% มีระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งยังคงกดดันการบริโภคและการผลิตภายในประเทศของจีน

2) ปัจจัยภายนอกประเทศของจีน โดยเศรษฐกิจจีนในฐานะผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก และนำเข้าอันดับ 2 ของโลก ก็ได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเช่นกัน รวมถึงความขัดแย้งทางการค้าที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะกระทบต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง* (High-technology) ของจีนใน 5 เดือนแรกของปี 2566 มีสัดส่วนลดลงราว 6% จากช่วงเวลาเดียวกันของ 5 ปีก่อนหน้า (ปี 2561) ซึ่งบางส่วนไทยได้อานิสงส์ส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่ม

ดังนั้น จากสองปัจจัยที่ได้กล่าวไปในข้างต้นก็ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการค้าระหว่างประเทศของจีนให้ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเดือนพฤษภาคม 2566 ทั้งการส่งออกและนำเข้าสินค้าของจีนลดลง -7.5%(YoY) และ -4.5%(YoY) ตามลำดับ ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องมายังแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดจีนให้ได้รับอานิสงส์ไม่มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ไทยเป็นผู้ส่งออกขั้นกลางในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจีนนำเข้าเพื่อไปทำการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปและส่งต่อไปยังตลาดโลก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และยานยนต์ ผ้าและใยสังเคราะห์ เป็นต้น ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรจะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อภาพรวมการส่งออกของไทยไปจีน เนื่องจากความต้องสินค้าเกษตร เช่น ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง เป็นต้น ยังมีอยู่ แต่ความสามารถในการส่งออกคงขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตภายในประเทศ รวมถึงการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่มีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้นจากระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพขึ้นจากการขนส่งผ่านรถไฟไทย-ลาว-จีน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมีมุมมองว่า ภาพการชะลอตัวและความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลให้อุปสงค์โลกชะลอลง จะยังคงกดดันภาพรวมการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า ขณะที่อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอาจมีไม่มากเท่าที่ควร สะท้อนผ่านตัวเลขส่งออกของไทยไปจีนที่หดตัวลึกในเดือนพฤษภาคม 2566 ประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ และความผันผวนของค่าเงิน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยฐานที่ลดลงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นปัจจัยเชิงบวกสำคัญของการส่งออกไทยให้อาจกลับมาเห็นการขยายตัวได้บ้าง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองว่า ภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2566 จะหดตัวที่ -1.2%


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment