วิกฤตสื่อจากขุนน้ำนางนอน ต้องกู้ศรัทธา บนจริยธรรมและเป็นมืออาชีพ

ในที่สุดเยาวชนและโค้ชรวม 13 คน จากทีมหมูป่าอะเคดามี่ ก็ได้รับความช่วยเหลือออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงรายได้อย่างปลอดภัย

ท่ามกลางความยินดีไม่ใช่แค่เพียงประเทศไทย แต่ยังกว้างไกลไปทั่วโลก

สิ่งที่ได้รับการยอมรับและชื่นชมมากก็คือ ความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นหนึ่งเดียว การบริหารจัดการที่เป็นระบบสากล การตัดสินใจที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างถูกต้องและถูกเวลา

แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย สามารถแก้ไขปัญหาภัยภิบัติได้ตามมาตรฐานนานาชาติ ไม่แพ้ประเทศอื่นๆ

แต่สิ่งที่กำลังกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากก็คือ การแข่งขันของสื่อ ที่พยายามจะช่วงชิงเรทติ้ง ประเด็นข่าวที่ดีกว่า และรวดเร็วกว่าคู่แข่ง

การนำเอาข้อมูลจากออนไลน์ ที่เป็นสื่อรอง บางข้อมูลเป็นเท็จหรือการคาดเดาเพื่อสร้างกระแส เอาไปเป็นประเด็นถามในการทำงาน

ยังรวมไปถึงการถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวของผู้สื่อข่าวเอง จนสร้างความลำบากใจแก่ทีมงานที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอน

จนถึงกับต้องมีการควบคุมพื้นที่และการทำงานของสื่อที่เข้มงวด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้รับการร้องขอ แต่สื่อบางแห่งก็ยังละเลยและละเมิดต่อการปฏิบัติการกู้ภัยครั้งสำคัญ ซึ่งทำให้เกิดการเข้าใจผิด หรืออาจขัดขวางหรือก่อให้เกิดอันตรายได้

กลายเป็นการทำงานที่ไม่คำนึงถึงจริยธรรมในการทำงานและมาตรฐานของความเป็นมืออาชีพ

สะท้อนถึงความล้มเหลวในการควบคุมดูแล ตั้งแต่สภา สมาคม และกองบรรณาธิการ

แล้วหลังจากการกู้ภัยและส่งทีมหมูป่ากลับบ้าน คงต้องจับตามองดูสื่อ ที่คงจะต้องหาทางเข้าถึงบุคคลเหล่านี้ เพื่อเสาะหาเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น

คงต้องมีการแข่งขันและช่วงชิงตัว ซึ่งอาจเป็นไม่ไปตามจริยธรรมและความเป็นมืออาชีพของสื่อ

ดังนั้น หน่วยงานทั้งหลาย ตั้งแต่ระดับที่ควบคุมดูแล ไปจนถึงผู้บริหารสื่อคงต้องไปทบทวน เพื่อให้สื่อปฏิบัติหน้าที่ภายใต้จริยธรรม และความเป็นมืออาชีพเดียวกัน

เพื่อเรียกความศรัทธาให้กลับคืนมาสู่สื่อมวลชนที่ดี

ไม่ใช่แค่ต้องการเพียงแค่เร็วกว่า นำหน้าคนอื่นเพื่อชิงเรทติ้งอย่างเดียว


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment