ศุลกากรยิ้มรายได้ครึ่งปีงบ 66 เกินเป้า ผลงานป้องกัน ปรามปรามดี

กรมศุลกากรแถลงผลงานในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2566 จัดเก็บรายได้เกินเป้า 346,577 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 26,294 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.2 ขณะที่สามารถปฏิบัติงานด้านป้องกัน ปราบปรามได้ผลดี

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร แถลงผลงานในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2566 โดยมีผลการจัดเก็บรายได้ ผลการตรวจพบการกระทำความผิดทางกฎหมายศุลกากร และแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับการแอบอ้างชื่อกรมศุลกากรในการหลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีผลงานที่น่าสนใจดังนี้

1. การจัดเก็บรายได้กรมศุลกากรในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - มีนาคม 2566)

ในเดือนมีนาคม 2566 กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวม 60,416 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 274 ล้านบาท (ปีก่อน 60,141 ล้านบาท) หรือร้อยละ 0.5

สำหรับการจัดเก็บรายได้ศุลกากร 11,187 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1,411 ล้านบาท

(ปีก่อน 9,775 ล้านบาท) หรือร้อยละ 14.4 และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1,987 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 21.6

โดยในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - มีนาคม 2566) กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวม 346,577 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 26,294 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.2

สำหรับการจัดเก็บรายได้ศุลกากร 67,322 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 14,282 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.9 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าขยายตัว ประกอบกับมีการชำระอากรตามคำพิพากษาคดี และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 14,622 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 27.7

ในด้านการจัดเก็บแทนหน่วยงานอื่น 279,255 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 12,013 ล้านบาท (ปีก่อน 267,242 ล้านบาท) หรือร้อยละ 4.5

โดยสินค้านำเข้าหลักที่จัดเก็บอากรได้สูง ได้แก่ รถยนต์นั่ง ส่วนประกอบยานยนต์ ยารักษาโรค เครื่องสำอาง และกระเป๋า

2. ผลการตรวจพบการกระทำความผิดทางกฎหมายศุลกากรในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - มีนาคม 2566)

กรมศุลกากร มีนโยบายในการเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงการนำเข้าและส่งออกสินค้าจากราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงให้หน่วยงาน

ในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ยาเสพติด สินค้าเกษตร น้ำมัน IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา CITES โดยสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้า

นอกจากนี้ มีการบูรณาการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทหาร กอ.รมน. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่าง ๆ องค์การตำรวจสากล (Interpol) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (Drug Enforcement Administration: DEA) เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกัน ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคม 2565 - มีนาคม 2566 มีการจับกุมจำนวน 16,529 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 1,777,600,000 บาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

สถิติการจับกุมยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มีทั้งหมด 98 คดี น้ำหนัก 32,773 กิโลกรัม มูลค่า 893,331,277 บาท

สถิติการจับกุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ผลิตยาเสพติด มีทั้งหมด 5 คดี น้ำหนัก 375,986 กิโลกรัม มูลค่า 21,887,555 บาท

สถิติการจับกุมเนื้อสุกรแช่แข็ง มีทั้งหมด 13 คดี น้ำหนัก 4,655,442 กิโลกรัม มูลค่า 240,549,640 บาท มี

สถิติการจับกุมเศษพลาสติก มีทั้งหมด 1 คดี น้ำหนัก 5,000 กิโลกรัม มูลค่า 88,059 บาท

3. กรมศุลกากรขอแจ้งเตือนโปรดอย่าหลงเชื่อกรณีแอบอ้างชื่อกรมศุลกากรในการหลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ

3.1. กรณีหลอกให้รัก หลอกให้โอนเงิน ในกรณีที่ชาวต่างชาติหรือบุคคลที่ทำความรู้จักกับผู้เสียหายผ่านทางสื่อออนไลน์ แจ้งว่าได้ส่งของขวัญหรือของมีค่าต่าง ๆ มาให้ และขอให้ผู้เสียหายโอนเงิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและค่าภาษีศุลกากรสำหรับสิ่งของดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายต้องโอนเงินไปให้

3.2 กรณีที่มิจฉาชีพโทรมาแจ้งว่ามีพัสดุติดค้างที่ศุลกากรและให้โอนเงินค่าภาษีศุลกากร เนื่องจากปัจจุบัน การซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์กำลังได้รับความนิยม สินค้าบางประเภทถูกส่งมาจากต่างประเทศ จึงเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพทำการหลอกลวงว่า ได้สั่งซื้อพัสดุมาจากต่างประเทศและมีภาระค่าภาษีศุลกากร ให้โอนเงินชำระค่าภาษี ไม่เช่นนั้นจะทำการยึดสินค้าดังกล่าว

3.3. กรณีแอบอ้างว่ารู้จักกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกในการประมูลของกลางของกรมศุลกากร ในกรณีนี้ กรมศุลกากรขอเรียนให้ทราบว่าในการประมูลของกลาง กรมศุลกากรจะมีการประกาศขายทอดตลาดอย่างเป็นทางการ ผ่านเว็บไซต์ของกรมศุลกากร และจะรับชำระเงิน ณ ที่ทำการศุลกากร อีกทั้งมีระบบในการดำเนินการที่เข้มงวด หากมีผู้ใดแอบอ้างว่ารู้จักกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกในการประมูลของกลางของกรมศุลกากร และให้มีการโอนเงินค่าสินค้า หรือโอนเงินมัดจำเข้าบัญชีใด ๆ นั้น ไม่เป็นความจริง หากท่านใดพบการแอบอ้างดังกล่าวสามารถแจ้งข้อมูลมายังกรมศุลกากรได้

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย ท่านสามารถสอบถามข้อมูล เพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมศุลกากร 1164 หรือศูนย์บริการศุลกากร (Customs Care Center) โทรศัพท์ 02-667-6000, 02-667-7000 ต่อ 205844-8 หรือ website: ccc.customs.go.th หรือติดต่อด้วยตนเอง หรือโทรศัพท์สอบถามไปยัง สำนักงานหรือด่านศุลกากรทุกแห่ง ในวันและเวลาราชการ


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment