ALT ปลื้มยอดใช้โครงข่ายข้ามแดน”เมียนมาร์​-กันพูชา”พุ่ง

เอแอลที เทเลคอม ปลื้ม IGC ยอดใช้บริการโครงข่ายข้ามแดนช่วง 2 ปีเติบโตก้าวกระโดดทั้งเมียนมาร์- กัมพูชา-เวียดนาม ใจศักยภาพยังเติบโตได้อีกมาก หลายบริษัทที่ให้บริการข้อมูลยักษ์ใหญ่ต่างชาติสนใจเป็นพันธมิตรจ่อเข้าลงทุนในไทยอีกเพียบ

นายพิชิต สถาปัตยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ จำกัด (IGC ) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทเอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสารความเร็วสูง และบริการชุมสายอินเทอร์เน็ตทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยว่า บริษัท IGC แม้ว่าจะเป็นน้องใหม่ที่เปิดให้บริการได้เพียง 4 ปี แต่ผลการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด​ โดยเฉพาะการให้บริการเชื่อมต่อโครงข่ายกับประเทศเมียนมาร์และกัมพูชา

โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ IGC มีการเติบโตอย่างมาก เป็นเพราะบริษัทได้เปิดให้บริการในจังหวะเวลาที่ผู้ใช้บริการต้องการคุณภาพของบริการที่ดีขึ้น มีตัวเลือกที่มากขึ้น ประกอบกับเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาประเทศเมียนมาร์เกิดปัญหาภายใน ทำให้มีปริมาณความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในขณะที่ IGC มีความพร้อมในการให้บริการ โดยเฉพาะมีเครือข่ายหลักที่อยู่บนเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ และมีเส้นทางสำรองบนถนน ทำให้โครงข่ายมีความเสถียรสูง รวมทั้งมีการเชื่อมต่อข้ามพรมแดนและศูนย์ข้อมูลหลายจุด

“แม้เราเพิ่งเปิดดำเนินการมาแค่ 4 ปี แต่ด้วยความพร้อมดังกล่าว ทำให้เกิดความแตกต่างในการให้บริการได้รวดเร็วกว่าความคาดหวังของลูกค้า ในคุณภาพที่เทียบเท่าหรือดีกว่า เราพร้อมที่จะเข้าไปคุยกับลูกค้าทุกราย ทำให้เราเติบโตในช่วง 2 ปีแรกที่เริ่มให้บริการได้เร็วมากๆ เติบโตจากศูนย์ มาเป็น Multiple 100 Gbps ภายใน 3 ปี เราได้ธุรกิจจากเมียนมาร์เป็นสัดส่วนสูงสุด เราเป็นรายเล็กที่เติบโตสวนกระแส โตถึงขีดสุดจนถึงขนาดอุปกรณ์ไม่เพียงพอติดตั้งให้ลูกค้า” นายพิชิตกล่าว

ส่วนผลการดำเนินงานในปีนี้ของ IGC ก็ยังเป็นอีกปีที่มีแนวโน้มจะเติบโตสวนกระแสโดยเฉพาะปริมาณแบนด์วิทด์ที่ต่อเชื่อมกับประเทศกัมพูชา ที่ล่าสุดเติบโตแซงประเทศเมียนมาร์ไปแล้ว โดยสาเหตุที่กัมพูชามีการเติบโตมาก เนื่องจากกัมพูชามีชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศเวียดนาม เมื่อเวียดนามมีปัญหาไม่สามารถส่งข้อมูลในประเทศ หรือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับต่างประเทศได้ เพราะสายเคเบิลใต้น้ำเกิดปัญหา ทำให้ต้องส่งข้อมูลมาทางภาคพื้นดินแทน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของ IGC ที่มีความพร้อมให้บริการเชื่อมต่อตามชายแดนอยู่แล้ว จึงสามารถรับแบนด์วิทด์จากเวียดนามมาประเทศไทย ไปสิงคโปร์ เป็นเส้นทางใหม่ที่สร้างโอกาสในการใช้โครงข่ายชายแดนไทย-กัมพูชามีปริมาณแบนด์วิทด์มากกว่าเมียนมาร์แล้ว ณ วันนี้

ทั้งนี้บริษัทIGC ได้สิทธิเชื่อมต่อโครงข่ายจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช มาทั้งหมด 15 borders แต่ปัจจุบันใช้ไปเพียง 12 borders ดังนั้นโครงข่ายของIGC ที่วางไว้มั่นใจว่าสามารถตอบโจทย์การทำธุรกิจให้ลูกค้าจริง โดยเชื่อมจากชายแดนหนึ่งไปอีกชายแดนหนึ่งเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นจุดขายของIGC

นายพิชิตกล่าวว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกับการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนอินเทอร์เน็ต (Digital Hub) ทำให้ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ให้ความสนใจมาใช้ไทยเป็นจุดแลกเปลี่ยน ซึ่ง IGC มีความได้เปรียบด้านการแข่งขันเนื่องจากกลุ่ม ALT ได้ลงทุนสร้างโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงไว้หลากหลายเส้นทางและมีความปลอดภัยสูง มีจุดเชื่อมต่อจำนวนมาก จึงสามารถออกแบบโครงข่ายได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าและสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็ว

“Digital Hub ของ เซาท์อีสท์เอเชีย (Southeast Asia)ถือเป็น Road Map หลักที่รัฐบาลไทย กำหนดไว้ ซึ่งในภาครัฐได้ลงทุนพัฒนาพื้นที่ที่เรียกว่า EEC โดยมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมาย เราก็พยายามเอาสิทธิประโยชน์ต่างๆ ใน EEC ไปเป็นฐานและเป็นข้อมูลหลัก ในการไปเจรจากับนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ของโลก ว่าประเทศไทยเปิดแล้วและรัฐมีนโยบายผลักดันเรื่อง Digital Hub ผมมองว่า ภายใน 2 ปีนี้ถือเป็นปีทองที่รัฐต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น เพราะหาก Digital Hub เกิดขึ้น ทั้งปริมาณข้อมูล ทั้งปริมาณอุปกรณ์ไอที ทั้งจำนวนดาต้าเซ็นเตอร์ จะมาลงทุนอีกมาก เพราะทั้งอินเทอร์เน็ต ทั้งอีคอมเมิร์ซที่เติบโต จำเป็นต้องมีศูนย์ข้อมูลในประเทศไทย ขณะที่ IGC เองได้ลงทุนสถานีเคเบิลใต้น้ำ เพื่อตอบโจทย์นักลงทุนในการนำสายเคเบิลใต้น้ำมาขึ้นที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นทางเลือกที่นักลงทุนสามารถมาหาเรา มาเป็นพันธมิตรกับเราได้ง่ายขึ้น ภายในเวลาที่รวดเร็ว” นายพิชิต กล่าวย้ำ


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment