AA&P ชี้ต้องเตรียมพร้อมต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต

แอดไวเซอรี่ อัลไลแอนซ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส หรือ AA&P เปิดมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย ปี 2566 พร้อมแนวทางรับมือต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

คุณธีระยุทธ ไทยธุระไพศาล ผู้จัดการใหญ่สายงานวาณิชธนกิจและตลาดทุน กลุ่ม บริษัท แอดไวเซอรี่ อัลไลแอนซ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด หรือ AA&P เปิดเผยว่า จากปัญหาสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2565 ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในระยะฟื้นตัวและยังคงมีความเปราะบางอยู่ ทำให้มีความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสงครามการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครน การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ สภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจ โดยในระยะที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลาย 10 ปี รวมถึงแนวโน้มปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลกในจังหวะนี้เป็นช่วงที่เปราะบางมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในกรอบที่ 4.5-4.75% ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เพื่อลดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มมีความกังวลว่าเศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวลงอีกและมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน อีกทั้งยังเป็นสร้างความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อเสถียรภาพของระบบการเงินทั่วโลก

ทั้งนี้ ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาในบางประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศโลกตะวันตกมีการเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน โดยมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในทุกๆ 2 หรือ 3 เดือน เพื่อต่อสู่กับสภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มมากขึ้นจากทุกธนาคารกลางทั่วโลก ไม่เว้นแต่แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเช่นกัน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่า อัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกประมาณ 1-1.5% ในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นมากถึง 5-6% ซึ่งจะเห็นได้ว่ากรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยที่ไม่ต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

AA&P ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุนคาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงระหว่าง 3.3% - 3.8% โดยการขยายตัวดังกล่าว เป็นผลมาจากแรงฟื้นตัวจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากการผ่อนปรนมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ มีโอกาสที่จะได้รับอนิสงค์จากการฟื้นตัวดังกล่าว โดยการเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ จะส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เป็น New S-Curve หรือ Intermediate S-Curve ได้ เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรนวัตกรรมใหม่ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือแม้แต่กระทั่งอุตสาหกรรม Logistics ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคตนี้เป็นสิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง และมีโอกาสที่จะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับการเข้ามาลงทุนในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ปัญหาสภาพคล่องของ Silicon Valley Bank (SVB) ที่เกิดขึ้นในปีนี้เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ได้เข้ามาเพิ่มความกังวลและสั่นคลอนภาคธนาคารทั้งในสหรัฐ ฯ และยุโรป ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนเกี่ยวกับวิกฤติทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ด้วยการตอบสนองของภาครัฐที่รวดเร็วในระยะสั้น และการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมให้กับภาคธนาคารได้ช่วยลดแรงกดดันและป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามไปได้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะทางการเงินที่เริ่มตึงตัวขึ้นเร็วดังกล่าว จะส่งผลให้เศรษฐกิจมีการชะลอตัวลงได้ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีสัญญาณค้างสูง ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันให้นโยบายการเงินยังไม่สามารถกลับมาสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ โดยการแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกดังกล่าวถือเป็นหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี้นี้ได้ แต่หากพิจารณาแรงฟื้นตัวจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามที่กล่าวข้างต้น จะพบว่าเฉพาะการเติบโตของรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นที่มาของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไปแล้วประมาณ 4% ในขณะที่สัญญาณในภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ของประเทศทั้งภาคการส่งออกและภาคการบริโภคในประเทศยังมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนให้เห็นถึง “การฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันระหว่างภาคเศรษฐกิจในประเทศ” ซึ่งในภาคธุรกิจยังคงมีการระดมทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้ในการขยายธุรกิจและเป็นเงินทุนหมุนเวียน ตลอดจนนำไปลดภาระหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยมีทิศทางจะปรับตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะออกตราสารหนี้ระยะยาวกันมากขึ้น รวมถึงเริ่มหันมาใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ เพื่อช่วยในการระดมทุนจากภาคเอกชนและล็อคต้นทุนทางการเงินก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้นอีก

สำหรับในระยะต่อไป AA&P มองว่าความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก และทิศทางการปรับเปลี่ยนของนโยบายการเงินการคลัง ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ตลาดทุนมีความผันผวนสูงอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทจดทะเบียนไทยควรเฝ้าระวังและจับตามองพัฒนาการของสภาวะทางการเงินต่างๆ ที่จะเข้ามาสะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจไทย ซึ่งการตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุน ตลอดจนการดำเนินนโยบายทางธุรกิจในช่วงนี้ที่สภาวะทางเศรษฐกิจใกล้ถึงจุดเปลี่ยน จำเป็นต้องมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา และควรติดตามข่าวสารเพื่อประเมินข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดต่อไป


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment