รฟท.ชวนร่วมงาน“Unfolding Bangkok” ย้อนรอยรำลึก “สถานีหัวลำโพง"

การรถไฟฯ เชิญชวนคนไทยเข้าร่วมงาน “Unfolding Bangkok” ย้อนรอยรำลึก เรียนรู้ประวัติศาสตร์สำคัญของชาติ กว่าจะมาเป็น “สถานีหัวลำโพง” ผ่านการแสดงแสง สี เสียง ดนตรี ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ มากมาย ฉลองครบรอบ 126 ปีวันสถาปนากิจการรถไฟ

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ขอเชิญชวนประชาชน และนักท่องเที่ยว เข้าร่วมงาน Unfolding Bangkok ณ สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เปิดประสบการณ์ใหม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของชาติ ผ่านการแสดงแสง สี เสียง ดนตรี และการแสดงหลากหลาย โดยจะสื่อถึงการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาจากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 126 ปีวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟ วันที่ 26 มีนาคม 2566 ตามนโยบายของนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ต้องการส่งเสริม สนับสนุนการอนุรักษ์และพัฒนาอาคารสถานีรถไฟในฐานะมรดกทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของไทย โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-26 มีนาคม 2566 เริ่มตั้งแต่เวลา 16.00 - 22.00 น.

สำหรับกิจกรรมภายในงาน แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย

1. การจัดแสดงไฟ THE WALL 2023 : UNFOLDING HUA LAM PHONG มี 3 โซน ได้แก่

โซนที่ 1 Scene The Door : กระจกทรงโค้ง บริเวณประตูทางเข้าสถานีรถไฟ จุดเริ่มต้นในการเดินทางเพื่อเข้าสู่พื้นที่ภายในสถานี สะท้อนจินตนาการของผู้คนสู่ก้าวย่างใหม่ของการเดินทางที่กำลังจะเกิดขึ้น โซนที่ 2 Scene The People : โถงอาคารสถานีรถไฟส่วนที่พักคอย ได้ออกแบบแสงให้เป็นพื้นที่สำคัญ ให้ “ผู้คน” ได้ชมเสน่ห์ของสถานีรถไฟหัวลำโพงในมุมมองใหม่ และโซนที่ 3 Scene The Emotion : บริเวณชานชาลา พื้นที่แห่งการพบปะและจากลา แสงไฟจะช่วยสร้างอารมณ์ร่วมในการพบ และจากลาของผู้คนในอดีต ที่เคยโดยสารรถไฟหัวรถจักรไอน้ำที่ผ่านกาลเวลามาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ทั้ง 3 โซนจัดแสดงตั้งแต่เวลา 19.00-22.00 น.

2. การแสดงดนตรี จะได้พบกับการแสดงดนตรีจากนักร้องวงต่างๆ มากมาย ที่มาบรรเลงเพลง และมอบความสุขสนุกสนานให้กับผู้เข้าร่วมงาน อาทิ วงดนตรีสุนทราภรณ์ วงดนตรีเร็กเก้อีสาน วงนักร้องประสานเสียง และวงฮาร์พและเครื่องสาย ซึ่งจะมาสลับสับเปลี่ยนสร้างความสุขให้กับประชาชน

3.การจัดแสดงรถไฟขบวนพิเศษ ประกอบด้วย รถจักรไอน้ำโมกุล เลขที่ 713 และ 715 ตู้รถเพรสทีจ (ที่ปรับปรุงมาอย่างสวยงาม) ตู้รถโดยสาร ชั้น 3 (รุ่นเก้าอี้ไม้) บริเวณชานชาลาที่ 4 และ 5 รวมทั้ง กิจกรรมทัวร์ย้อนเวลาศึกษารถไฟ โดยวิทยากรจากการรถไฟฯ และกลุ่มคนรักรถไฟ มาร่วมบอกเล่าความเป็นมาของรถไฟไทย และสถานีหัวลำโพง ระบบการขนส่งที่เป็นทางเลือกของประเทศไทย นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ ‘ภารกิจชีวิตในโลกย่อสเกลรถไฟจำลอง’ เป็นการจำลองรถไฟขนาดเล็กมาจัดแสดงให้ชมกันด้วย

“การจัดงานครั้งนี้ได้นำอาคารสถานีหัวลำโพง ซึ่งเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ มาเล่าเรื่องราวย้อนรอยอดีตในรูปแบบใหม่ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยผู้ที่เข้าร่วมงานจะได้รับความสุข และเปิดมุมมองใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ที่น่าค้นหา ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สำคัญของสถานีหัวลำโพง ที่มีอายุยาวนานกว่า 107 ปี ซึ่งที่นี่เป็นชุมทางการเดินทางของผู้คนมากมาย ถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของประเทศ มีอาคารทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทั้งด้านสถาปัตยกรรม และด้านคมนาคมขนส่งทางราง รวมทั้งยังเป็นแลนด์มาร์กที่มีเสน่ห์อีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ”

ทั้งนี้ ในวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2566 จะมีไฮไลท์สำคัญโดยจะมีขบวนรถพิเศษนำเที่ยว KIHA 183 กรุงเทพ – อยุธยา - กรุงเทพ ที่นักท่องเที่ยวได้จองตั๋วนำเที่ยวไว้แล้ว วิ่งออก - เข้า จากชานชาลาที่ 5 ในช่วงเวลา 07.00 – 08.10 น. และ 19.45 – 22.00 น. และในวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม 2566 จะมีขบวนรถจักรไอน้ำพิเศษนำเที่ยว กรุงเทพ - อยุธยา รุ่นแปซิฟิค หมายเลข 824 และ 850 ที่นักท่องเที่ยวได้จองตั๋วนำเที่ยวไว้แล้ว วิ่งออก - เข้า จากชานชาลาที่ 5 ในช่วงเวลา 07.00 – 08.10 น. และ 18.35 – 22.00 น. ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถร่วมบันทึกภาพของขบวนรถ KIHA 183 และหัวรถจักรไอน้ำรุ่นต่างๆ ที่หาชมได้ยากในโอกาสนี้ด้วย

นายเอกรัช กล่าวทิ้งท้ายว่า เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่การรถไฟฯ ตั้งใจจัดขึ้น เพื่อให้ประชาชนทุกคนร่วมกันเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ กว่าจะมาเป็นสถานีกรุงเทพ หรือหัวลำโพง แลนมาร์คสำคัญของคนไทยทั้งประเทศ ทั้งนี้ผู้สนใจเข้าร่วมงาน สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ โทรศัพท์สายด่วน 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดตามข่าวสารต่างๆ ได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment