กบน.ปรับลดราคาดีเซลรอบ 3 เหลือ 33.50 บาท/ลิตร

สกนช. เผยผลการประชุม กบน. มีมติปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงเหลือ 33.50 บาท/ลิตร หลังทิศทางราคาดีเซลโลกดีขึ้นเล็กน้อย ประกอบกับคณะรัฐมนตรีประกาศขยายระยะเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซลไปจนถึง 20 กรกฎาคม 2566 และฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มมีสภาพคล่องมากขึ้น โดยล่าสุดติดลบต่ำกว่าแสนล้านบาทแล้ว

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 เห็นชอบการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงอีก 0.50 บาท/ลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีเซลอยู่ที่ 33.50 บาท/ลิตร โดยราคาขายปลีกดีเซลใหม่นี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งการปรับลดครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สามหลังจากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาปรับลดไปแล้ว 2 ครั้งรวม 1 บาท/ลิตร

สาเหตุการปรับลดครั้งนี้ เป็นผลมาจากค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตลาดโลกโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลลดลงแต่ไม่มากนัก และยังมีปัจจัยผันผวนอีกหลายด้านที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – 15 มีนาคม 2566 พบว่าราคาน้ำมันดีเซลเดือนมกราคมเฉลี่ยอยู่ที่ 113.95 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เดือนกุมภาพันธ์

103.61 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และวันที่ 1 – 15 มีนาคม เฉลี่ย 102.21 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ประกอบกับคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม - 20 กรกฎาคม 2566 และสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มดีขึ้นมีฐานะติดลบต่ำกว่าหลักแสนล้านบาทแล้ว จึงเห็นควรปรับลดราคาขายปลีกดีเซลให้กับประชาชน ซึ่งนอกจากจะช่วยประคับประคองค่าครองชีพประชาชนแล้ว ยังมีส่วนช่วยไม่ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ความผันผวนของราคาน้ำมันยังคงมีหลากหลายปัจจัย โดยจะเห็นได้ว่ามีเหตุการณ์สำคัญๆ ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงระหว่างวันที่ 13 กุมภาพันธ์ – 15 มีนาคม 2566 หลายด้านที่ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงผันผวนปรับขึ้นลง อาทิ ประเทศรัสเซียปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 5 แสนบาร์เรล/วันในเดือนมีนาคมนี้ หรือคิดเป็น 5% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนหลังเปิดประเทศ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก ความผันผวนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และกรณีรัฐบาลสหรัฐฯ สั่งปิดกิจการของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB) รวมทั้งสถานะการเงินที่ต้องการความช่วยเหลือของธนาคารเครดิตสวิส ที่เป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวันที่ 12 มีนาคม 2566 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิติดลบ 99,662 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 53,290 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 46,372 ล้านบาท


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment