ภาพรวมหนี้ครัวเรือนปี 2566 อาจชะลอลงมาที่กรอบ 84.0-86.5% ต่อจีดีพี

ภาพรวมหนี้ครัวเรือนปี 2566 อาจชะลอลงมาที่กรอบ 84.0-86.5% ต่อจีดีพี...แต่ครัวเรือนยังมีภาระหนี้ที่ค่อนข้างสูงเป็นข้อจำกัดการเติบโตของการบริโภคในอนาคต

ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นโจทย์เชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่นอกจากจะมีผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีนัยต่อเนื่องมาที่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินไทย โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายหน่วยงานต่างผสานความร่วมมือเพื่อบรรเทาปัญหาภาระหนี้สูงให้กับกลุ่มประชาชนรายย่อย ขณะที่ล่าสุด (14 ก.พ. 2566) ธปท. ได้เผยแพร่เอกสารทิศทาง “แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” ซึ่งมีเป้าหมายในการดูแลให้หนี้ครัวเรือนในภาพรวมลดลงกลับไปอยู่ในระดับที่ยั่งยืน (ต่ำกว่า 80% ของจีดีพี) เพื่อลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน ลดแรงกดดันต่อศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว และทำให้ครัวเรือนมีความเป็นอยู่และสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบด้วยต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสม ดังนั้น ในช่วงหลังจากนี้อาจเริ่มเห็นการทยอยออกมาตรการและแนวทางเพื่อดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างชัดเจนและต่อเนื่องมากขึ้น ซึ่งเมื่อรวมผลของปัจจัยดังกล่าว เข้ากับทิศทางดอกเบี้ยในประเทศที่เป็นขาขึ้นและอาจคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าในอดีต รวมทั้งเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงแล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีในปี 2566 มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องเป็นปีที่สอง มาอยู่ที่กรอบ 84.0-86.5%

การเร่งตัวขึ้นของหนี้ครัวเรือนไทยในช่วงที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในปัจจัยที่จำกัดอัตราการเติบโตของการบริโภค

ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlement: BIS) ได้ทำการศึกษาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่มีต่อการเติบโตของการบริโภคและเศรษฐกิจในภาพรวม โดยใช้ข้อมูลของประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่รวม 54 ประเทศ ซึ่งมีข้อมูลของประเทศไทยรวมอยู่ในการศึกษาด้วย โดย BIS พบว่า แม้การเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี สามารถกระตุ้นการบริโภคได้ในระยะสั้น แต่เมื่อหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงเกินกว่าระดับ 60% ต่อจีดีพีมีแนวโน้มที่จะส่งผลลบต่อการเติบโตของการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนได้อย่างมีนัยสำคัญ (ภาพล่างขวา) นอกจากนี้ยังพบว่า หากระดับหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 80% ของจีดีพี ไม่เพียงส่งผลเชิงลบต่อการบริโภค แต่จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ (ภาพซ้ายล่าง) แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยจะเร่งสูงขึ้นมากกว่าหลายประเทศ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า อัตราการเติบโตของการบริโภคโดยเฉลี่ยของไทยยังคงต่ำกว่าหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และจีน ซึ่งมีการเร่งขึ้นของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนน้อยกว่าของไทย

สำหรับกรณีของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หนี้ครัวเรือนของไทยน่าจะปิดสิ้นปี 2565 ที่ระดับ 86.8% ต่อจีดีพี ซึ่งแม้จะลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 18 ปีที่ 90.8% ต่อจีดีพี แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับที่มีความยั่งยืนที่ 80.0% (ขณะที่ธปท. ประเมินว่า หากไม่มีมาตรการดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนแล้ว สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยจะมีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ แต่จะยังอยู่สูงกว่าระดับ 80% ต่อจีดีพีอย่างต่อเนื่องตลอดในช่วงปี 2566-2570) นอกจากนี้ หากมองย้อนกลับไป จะพบว่า หนี้ครัวเรือนของไทยเริ่มขยับเกินระดับ 60% ต่อจีดีพีแล้วตั้งแต่ในปี 2554 ซึ่งก็ได้ส่งผลทำให้การบริโภคของครัวเรือนไทยเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (เทียบค่าเฉลี่ย 5 ปีของอัตราเติบโตของการบริโภคกับระดับศักยภาพ หรือ Potential Growth)

และเพื่อให้สามารถมองภาพจากประเด็นนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการศึกษาเพิ่มเติม ถึงผลระทบจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนต่อทิศทางการบริโภคของไทย โดยพบข้อสรุปว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นส่งผลบวกต่อการบริโภคในระยะสั้น หรือในช่วงประมาณ 1 ปี แต่มีแนวโน้มที่จะกดดันการเติบโตของการบริโภคตลอดช่วง 2-4 ปีถัดๆ ไป

การดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือน และทิศทางดอกเบี้ยเงินกู้ที่ขยับขึ้นในปี 2566 อาจทำให้หนี้ครัวเรือนไทยยังคงเติบโตต่ำกว่าเศรษฐกิจ (Nominal GDP)

หากมองภาพในระดับที่ย่อยลงมาในปี 2566 รวมถึงในอนาคตอันใกล้หลังจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หนี้ครัวเรือนคงมีอัตราการเติบโตที่ลดความหวือหวาลงจากอดีต เนื่องจาก

ประการแรก ทิศทางดอกเบี้ยของไทยที่ยังคงเป็นขาขึ้น คงทำให้ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนมีความระมัดระวังในการก่อหนี้ก้อนใหม่ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยที่อ่อนไหวต่อการขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อาทิ สินเชื่อรายย่อยที่เป็นหนี้ก้อนใหญ่วงเงินกู้ยืมต่อสัญญาค่อนข้างสูงและมีการผ่อนชำระหลายปี เช่น สินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย สินเชื่ออเนกประสงค์ที่มีหลักประกัน รวมถึงสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงก็อาจทำให้สถาบันการเงินยังคงระมัดระวังความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้บางกลุ่มอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ประการที่สอง แนวทางดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนของทางการไทย ซึ่งจาก Directional Paper แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนของ ธปท. คงทำให้เห็นมาตรการและโครงการต่างๆ เพิ่มเติม ทั้งในส่วนของการแก้ไขหนี้เดิม (ที่เสียและยังไม่เสียแต่ปิดจบไม่ได้) ที่เน้นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการดูแลการก่อหนี้ก้อนใหม่ที่ในปี 2566 คงมุ่งเน้นไปที่การดูแลความสามารถในการชำระคืนและไม่กระตุ้นการก่อหนี้โดยไม่จำเป็น จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สินเชื่อรายย่อยในระบบแบงก์ไทยในปี 2566 น่าจะเติบโตในกรอบประมาณ 3.7-4.8% ชะลอลงจากที่เคยเติบโตเฉลี่ยประมาณ 6.0% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย อาจชะลอลงต่อเนื่องเป็นปีที่สองมาอยู่ที่กรอบประมาณ 84.0-86.5% ในปี 2566 เทียบกับตัวเลขคาดการณ์สิ้นปี 2565 ที่ 86.8% และระดับ 90.1% ในปี 2564 ดังนั้น แนวโน้มหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยที่เริ่มมีทิศทางทรงตัวหรือปรับตัวลดลง จึงเป็นภาพที่แตกต่างและให้ผลกลับด้านจากในอดีต เพราะแม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ทยอยลดลงอาจทำให้การบริโภคชะลอตัวในระยะสั้น แต่ก็จะส่งผลในด้านบวกต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน ตลอดจนการเติบโตของการบริโภคและเศรษฐกิจในระยะยาว

ความท้าทายในระยะข้างหน้า...จะอยู่ที่การดูแลให้การก่อหนี้ใหม่เป็นหนี้ที่มีคุณภาพเพื่อปรับส่วนผสมของหนี้ครัวเรือนไทยให้เกื้อกูลการเติบโตในระดับครัวเรือน และประเทศอย่างยั่งยืน

แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในปี 2566 อาจมีแนวโน้มชะลอลงมาอยู่ที่กรอบ 84.0-86.5% ตามประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย แต่คงต้องยอมรับว่า สาเหตุส่วนหนึ่งยังคงเป็นเพราะการเติบโตของหนี้ครัวเรือนที่ช้ากว่ามูลค่าจีดีพีตามราคาประจำปี (Nominal GDP) ขณะที่ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนยังคงเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ความท้าทายของโจทย์ในการดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยจะไม่ได้อยู่ที่เป้าหมายของการลดระดับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพียงอย่างเดียว แต่จะอยู่ที่การดูแลให้หนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นใหม่มีส่วนผสมของหนี้ที่มีคุณภาพ เพื่อทยอยปรับเปลี่ยนโครงสร้างหนี้ครัวเรือนในภาพใหญ่ให้มีส่วนผสมของหนี้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพ อาทิ หนี้เพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยและหนี้เพื่อการประกอบธุรกิจ และไม่กระตุ้นการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคในส่วนที่เกินความจำเป็น ซึ่งหากเปรียบเทียบไทยกับต่างประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจแล้ว จะพบว่า โครงสร้างหนี้ครัวเรือนในหลายๆ ประเทศ อาทิ นิวซีแลนด์ มาเลเซีย จีน และสิงคโปร์ ต่างก็มีสัดส่วนของหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยเกินครึ่งหนึ่งของหนี้โดยรวม ขณะที่หนี้เพื่อที่อยู่อาศัยของไทยมีสัดส่วนเพียง 34.7% ของหนี้ครัวเรือนโดยรวมเท่านั้น ในทางกลับกัน หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคอื่นๆ ของไทยมีสัดส่วนประมาณ 24.5% เมื่อเทียบกับจีดีพี (แบ่งเป็น หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 7.4% และหนี้บริโภคอื่นๆ 17.1%) ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับ นิวซีแลนด์ (3.6%) มาเลเซีย (14.3%) จีน (12.3%) และสิงคโปร์ (2.0%)

ความท้าทายของทิศทางดังกล่าว คงอยู่ที่การปรับเกณฑ์/มาตรการให้เหมาะสมกับสาเหตุที่แท้จริงของการก่อหนี้ในภาคครัวเรือน เพราะแม้ไทยจะมีสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่คงต้องยอมรับว่า แรงผลักดันสำคัญน่าจะมาจาก 2 ด้าน คือ การก่อหนี้หรือกู้เงินมาเพื่อเสริมสภาพคล่อง/ใช้จ่ายประจำวันเพราะมีปัญหาด้านรายได้ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังแก้ไขยาก และการเป็นหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรม/ทัศนคติทางการเงินของฝั่งครัวเรือน ควบคู่กับการให้ความรู้ทางการเงินที่มีแรงจูงใจมากพอให้ลูกหนี้หรือประชากรในกลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมการใช้จ่าย ก่อหนี้ ใช้คืนหนี้ และแก้หนี้ในทิศทางที่ต้องการ สำหรับการผลักดันแนวทางการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนสู่ภาคปฏิบัติในระยะกลาง-ยาวนั้น หัวใจสำคัญจะอยู่ที่การหาจุดสมดุลระหว่างการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ยืดหยุ่นเพียงพอในการผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการด้านสินเชื่อในประเภทและเงื่อนไขที่เกื้อกูลกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคครัวเรือน โดยที่ไม่ตึงเกินไปจนกลายเป็นการผลักดันให้ผู้บริโภคกลุ่มที่มีข้อจำกัดอยู่แล้วนั้น หลุดออกนอกระบบไป อีกทั้งมีการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการที่มากพอ โดยในระยะข้างหน้าคงต้องติดตามเกณฑ์เกี่ยวกับ DSR LTV แนวทางเกี่ยวกับ Open Data การผ่อนปรนเกณฑ์เพดานดอกเบี้ย และการสนับสนุน Risk-Based Pricing ซึ่งจะปูทางไปสู่การปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อ นอกจากนี้ การแก้หนี้ครัวเรือนจะไม่สามารถสัมฤทธิ์ผลได้ หากไม่สามารถ “ประคองฝั่งรายได้ของครัวเรือนให้มีเสถียรภาพ” โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่อยู่ในภาคเกษตร ซึ่งอาจหมายถึงการสร้างอาชีพเสริมรองรับในระดับท้องถิ่นที่มีความต่อเนื่องและเหมาะสมกับข้อจำกัดในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้ คงต้องอาศัยแรงผลักดันจากภาครัฐ ธปท. สถาบันการเงิน และตัวครัวเรือนเอง เพื่อให้เกิดกระบวนการแก้หนี้ที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment