THBAกังวลน้ำท่วม. ฉุดรับสร้างบ้านโค้งสุดท้ายหดตัว

ส.ไทยรับสร้างบ้าน เผยตัวเลขบ้านสร้างเองทั่วประเทศ 2 แสนล้านบาท ประเมินบริษัทรับสร้างบ้าน กทม.-ตจว.แชร์ส่วนแบ่ง 12% คาดโค้งสุดท้ายรับสร้างบ้านชะลอตัว สวนทางต้นทุนวัสดุ-แรงงานปรับราคา แนะผู้ประกอบการหันจับงานรีโนเวทหลังน้ำลด

นายนิรัญ โพธิ์ศรี นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association:THBA) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมขังหลาย ๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ทรัพย์สินและบ้านเรือนเกิดความเสียหาย คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ รวมถึงกระทบต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง โดยเฉพาะสินค้าที่มีราคาสูง ได้แก่ บ้าน รถยนต์ สำหรับภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านทั่วประเทศในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่าความต้องการสร้างบ้านใหม่จะชะลอตัว เมื่อเปรียบเทียบกับ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่ต้นทุนก่อสร้างทั้งค่าวัสดุและค่าแรงปรับตัวสูงขึ้นสวนทางกัน ซึ่งถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการทั้งรายเก่ารายใหม่ เมื่อต้องเผชิญกับปัจจัยลบและแรงกดดันรอบด้าน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรับสร้างบ้านรายใหม่ที่ยังขาดประสบการณ์

“ธุรกิจรับสร้างบ้านมีการปรับตัวและขยายตัวแบบช้า ๆ มาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมผู้ประกอบการเกือบทั้งหมดแข่งขันกันอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยในช่วงที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 จำนวนผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจขณะนั้นกว่า 200 ราย ต้องเลิกกิจการและเหลืออยู่เพียงไม่ถึง 30 ราย ต่อมาในปี 2546-2547 หรือประมาณ 20 ปีก่อน ธุรกิจรับสร้างบ้านเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ผู้ประกอบการชั้นนำบางรายเริ่มขยายสาขาออกไปยังต่างจังหวัด แม้ในช่วงเวลานั้นบริษัทรับสร้างบ้านจะเป็นที่รู้จักหรือรับรู้ของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่การแข่งขันก็ไม่ได้รุนแรง กระทั่งในระยะ 5-10 ปีที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยการเข้ามาแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่นั้น ส่วนใหญ่เป็นประเภทมือใหม่ มือสมัครเล่น และกลุ่มมิจฉาชีพที่แฝงตัวปะปนเข้ามา ส่งผลให้ผู้บริโภคที่ไม่ได้ตรวจสอบประวัติและศึกษาข้อมูลผู้ให้บริการก่อนจะตัดสินใจ ต้องประสบปัญหาบ้านที่สร้างไม่ได้คุณภาพบ้าง บ้านสร้างไม่เสร็จตามสัญญาบ้าง เหตุเพราะเข้าใจว่า “บริษัทรับสร้างบ้าน” คุณภาพและบริการเหมือน ๆ กัน หรือไม่ต่างกัน แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วมิได้เป็นดังที่เข้าใจ” นายนิรัญกล่าวเพิ่มเติม

ผลจากสถานการณ์น้ำท่วมและทำให้อาคารบ้านเรือนเสียหาย ผู้บริโภคและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จำเป็นต้องปรับปรุงและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยกันจำนวนมาก โดยสมาคมฯ ประเมินว่าตลาดรีโนเวทบ้านจะเติบโตได้ดีในช่วงไตรมาสสุดท้าย และอาจเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัวหันมาจับตลาดรีโนเวทบ้าน เพื่อเป็นการสร้างรายได้และเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งไม่ต้องเผชิญกับการแข่งขันของตลาดรับสร้างบ้านที่คาดว่าจะดุเดือดในช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้

นายนิรัญ นายกสมาคมฯ ยังกล่าวเตือนว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการควรเฝ้าติดตามข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะเรื่องความต้องการของผู้บริโภคหรือดีมานด์ที่มีมากกว่าซัพพลายในช่วง 2 เดือนสุดท้ายนี้ อาจเกิดปัญหาวัสดุขาดแคลนหรือขาดตลาด เหตุเพราะประชาชนจะมีการซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนพร้อม ๆ กันภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมจบลง อาจจะมีผลทำให้ราคาวัสดุปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นหากคำนวณค่าก่อสร้างผิดพลาดและมีผลทำให้ขาดทุน หรือก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา อาจกลายเป็นปัญหาเดือดร้อนทั้งตัวผู้ประกอบการเองและผู้บริโภค สถานการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ผ่านมา


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment