แหวนแม่นาฬิกาเพื่อน (ตอนที่ 1)

“เรื่องแหวนม่นาฬิกาเพื่อน” 

ถ้าเป็นเกาหลีใต้ เขาทำกันแบบนี้ !!!!

———-———-———-———-

แหวนแม่นาฬิกาเพื่อน (ตอนที่ 1)

.

ขณะที่สังคมกำลังจับจ้องและรอคำชี้แจงของผู้สวมแหวนและนาฬิการาคาแพงซึ่งไม่ได้อยู่ในบัญชีทรัพย์สินซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองต้องเปิดเผย เมื่อแหล่งข่าวได้แอบเปิดคำชี้แจงที่ทีมงานช่วยคิดเอาไว้ว่า แหวนเป็นแหวนที่ยืมแม่มา ส่วนนาฬิกาก็ยืมเพื่อนซึ่งเสียชีวิตไปแล้วมาสวม พลันที่คำชี้แจงดังกล่าวรั่วหลุดออกมา โซเชียลมีเดียก็กระหน่ำโจมตีจนผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมตอบคำถามใดๆ อีกและดูเหมือนจะเลื่อนการชี้แจงออกไปอีก ซึ่งก็คาดได้ว่าจะต้องกลับไปเขียนคำอธิบายอันใหม่อย่างแน่นอนเพราะการยืมแม่และยืมเพื่อนนั้นสังคมรับไม่ได้แน่ๆ

.

ทางฟาก ปปช. ซึ่งควรจะมีทีท่าเข้มแข็งในการปราบปรามคอร์รัปชันกลับมีท่าทีโอนอ่อนผ่อนปรนกับผู้มีอำนาจ มีการให้สัมภาษณ์ในทำนองที่ว่าไม่มีกฎหมายที่บังคับให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินระหว่างดำรงตำแหน่ง

.

จึงมีคำถามตามมาว่าเรื่องแบบนี้ถ้าเกิดขึ้นในประเทศที่เขาเข้มแข็งเอาจริงเอาจังในการปราบปรามคอร์รัปชัน หน่วยงานปราบคอร์รัปชันของประเทศนั้นจะทำอย่างไร?

.

กรณีแหวนแม่นาฬิกาเพื่อนนี่จะต้องไปดูการปราบคอร์รัปชันแบบเกาหลีใต้ซึ่งเป็นสังคมอุปถัมภ์เหมือนสังคมไทย ที่สำคัญรูปแบบการคอร์รัปชันที่นั่นก็เป็นรูปแบบที่มีการร่วมมือกันแบบบูรณาการเหมือนไทยอีกด้วย

.

เกาหลีใต้เคยนำเอาโมเดลการปราบคอร์รัปชันของฮ่องกงซึ่งถือเป็นต้นแบบโมเดลที่ใช้ปราบคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพจนหลายประเทศนำเอาไปใช้บ้าง แต่เมื่อเกาหลีใต้เอา “ฮ่องกงโมเดล” มาใช้กลับล้มเหลว เหตุผลสำคัญที่ทำให้ล้มเหลวมีสองข้อด้วยกันคือ 

หนึ่ง การคอร์รัปชันในเกาหลีใต้นั้นเป็นการคอร์รัปชันแบบบูรณาการคือรัฐบาล นักการเมือง และธุรกิจขนาดใหญ่ร่วมกันฮั้ว ร่วมกันโกงและ

สอง สังคมเกาหลีใต้เป็นสังคมอุปถัมภ์ คนที่รู้จักกันมีบุญคุณต่อกันมักจะไม่แฉกันหรือเปิดโปงกัน ผู้น้อยก็ไม่กล้าแฉผู้ใหญ่แม้ว่าจะรู้จะเห็น 

.

การปราบคอร์รัปชันจึงล้มเหลวเพราะไม่มีใครแจ้งเบาะแสการโกง คนใกล้ชิดทีมงานก็ไม่กล้าแจ้งเบาะแส คนที่ร่วมกันโกงต่างก็ช่วยกันปกปิดซึ่งกันและกัน โกงกันไปโกงกันมาจนประเทศแทบจะล่มสลาย จนกระทั่งเศรษฐกิจเกาหลีใต้พังทลายหลังวิกฤติต้มยำกุ้งของไทยลามไปทั่วโลก เกาหลีใต้จึงตัดสินใจปฏิรูป “ฮ่องกงโมเดล” ให้เป็นโมเดลของตัวเอง

.

“เกาหลีใต้โมเดล” พยายามที่จะแก้ไขปัญหาสังคมอุปถัมภ์ที่ไม่มีใครแฉใคร สังคมที่ไม่มีใครอยากแจ้งเบาะแส การโกงถึงแม้จะรู้จะเห็นก็ตาม สุดท้ายเกาหลีใต้ก็เรียนรู้ว่าคนที่จะแฉการโกงได้ดีที่สุดก็คือคนใกล้ตัวหรือทีมงานนั่นเองเพราะอยู่ใกล้ชิดและทำงานร่วมกัน ย่อมจะรู้เห็นความเป็นไปเป็นมาและเบาะแสการคอร์รัปชันได้ดีกว่าคนภายนอก ดังนั้นหนึ่งในมาตรการที่ใช้ปราบการโกงในสังคมอุปถัมภ์ของเกาหลีใต้โมเดลก็คือ “เกลือเป็นหนอน”

.

“เกลือเป็นหนอน” เป็นยุทธศาสตร์ในการปราบคอร์รัปชันของ ACRC ซึ่งเป็นหน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชันของเกาหลีใต้ที่ใช้วิธีการบีบบังคับให้คนใกล้ตัวหรือทีมงานต้องรีบ “แจ้ง” การคอร์รัปชันทันทีเมื่อได้รู้เห็นการคอร์รัปชัน หากคนใกล้ตัวหรือทีมงานทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้หรือช่วยปิดบังข้อมูล หากผู้คอร์รัปชันถูกจับ ACRC จะลงโทษคนใกล้ตัวและทีมงานอย่างหนัก ในทางตรงกันข้ามหากคนใกล้ตัวหรือทีมงานแจ้งเบาะแสให้กับ ACRC เมื่อคดีสิ้นสุด ผู้คอร์รัปชันโดนลงโทษ ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับรางวัล

.

“เกลือเป็นหนอน” จึงเป็นยุทธศาสตร์ปราบคอร์รัปชันที่ทำให้คนเกาหลีที่รู้เห็นการโกงต้องรีบแจ้งเบาะแสการโกงให้กับ ACRC ทันทีที่รู้เห็น เพราะพวกเขาไม่ต้องการโดนลงโทษไปพร้อมๆ กับคนที่โกง การแจ้งเบาะแสนอกจากจะทำให้เขาปลอดภัยแล้วยังทำให้เขาได้รางวัลจากการแจ้งอีกด้วย

.

ดังนั้นหากกรณีแหวนแม่นาฬิกาเพื่อนนี้หากเกิดขึ้นในเกาหลีใต้ เราจะได้เห็นทีมงานผู้สวมแหวนและนาฬิกาโดนลงโทษอย่างหนัก และบางทีเราอาจจะได้เห็นเพื่อนร่วมรัฐบาลที่ปรากฎภาพหัวเราะกันกิ๊กกั๊กๆ โดนลงโทษด้วยเช่นกัน

.

ยุทธศาสตร์ปราบโกงแบบเกาหลีใต้ยังมีอีกหลายแบบที่เมืองไทยควรจะเอามาใช้บ้าง โปรดคอยติดตาม

.

สำนักข่าวสับปะรด

21 ธันวาคม 2560

.

ขอขอบคุณภาพจาก www.phuketgazette.net

#หูตาสับปะรด #สำนักข่าวสับปะรด #คอร์รัปชัน#ปราบคอร์รัปชัน #แหวนแม่นาฬิกาเพื่อน


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment