{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
SCB WEALTH จัดสัมมนา SCB First Investment Outlook 2022 : Navigating Through the Recession & Inflation Risk ให้แก่กลุ่มลูกค้า First เพื่อรับมือเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอย
นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน ) เปิดเผย ในงานสัมมนา “SCB First Investment Outlook 2022 : Navigating Through the Recession & Inflation Risks ” ให้แก่กลุ่มลูกค้า First ว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจาก ประชาชนเริ่มกลับใช้จ่ายมากขึ้นหลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ทำให้ภาคบริการและการผลิต ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงทำให้ค่าแรงปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้าต่างๆปรับตัวสูงขึ้น และราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย – ยูเครน และความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้น แม้ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เงินเฟ้อของสหรัฐ เริ่มปรับตัวลง จากปัจจัยราคาอาหารและพลังงานที่ลดลง โดย SCB CIO คาดว่าเงินเฟ้อในสหรัฐผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ไม่ได้ปรับลดลงเร็ว ซึ่งพิจารณาจาก Core inflation ประกอบด้วย ราคาที่อยู่อาศัย ค่าเช่าบ้าน ค่าขนส่ง หรือราคารถยนต์ เริ่มปรับตัวลดลงจากการที่สหรัฐใช้ยาแรงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้อุปสงค์ลดลงและคาดว่าเงินเฟ้อจะทยอยปรับตัวลดลงช้าๆ จนกลับมาอยู่ที่ระดับ2%ในปี 2024 ส่วนยุโรป ทิศทางเงินเฟ้อยังไม่ผ่านจุดสูงสุด เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรป หากขาดแคลนพลังงาน จะส่งผลให้ โรงงานต่างๆผลิตสินค้าได้น้อยลง ภาคบริการก็อาจจะลดลง ดังนั้น ประเทศแถบยุโรปมีความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า
สำหรับเงินเฟ้อในประเทศไทย ยังไม่ผ่านจุดสูงสุด มีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น จนพีคที่ไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยฟื้นช้ากว่าประเทศอื่น แต่ในปีนี้มีทิศทางการขยายตัวที่ดีขึ้น จากภาคการส่งออก และบริการที่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาในประเทศไทย โดยคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยว ประมาณ 10 ล้านคน และในปี 2024 จะมีประมาณ 40 ล้านคนเท่ากับช่วงก่อนโควิด ดังนั้น ภาคการท่องเที่ยวน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เงินเฟ้อไทยอาจจะปรับตัวลดลงเร็ว หากราคาอาหารและพลังงานลงมาสู่ระดับที่เหมาะสม
ปัจจุบันรายได้ของคนไทยติดลบเมื่อหักด้วยเงินเฟ้อ เพราะรายได้เพิ่มขึ้นช้ามาก ประชากรไทยประมาณ 15 ล้านครัวเรือน มีรายได้เมื่อหักด้วยเงินเฟ้อแล้วเพียงพอต่อรายจ่าย รายได้มากกว่ารายจ่าย แต่อีก 8 ล้านครัวเรือนที่หักลบด้วยเงินเฟ้อ มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ทำให้ประชาชนต้องนำเงินออมมาใช้ หนี้ภาคครัวเรือนของกลุ่ม 15 ล้านครัวเรือนมีหนี้ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ส่วนกลุ่ม 8 ล้านครัวเรือนที่รายได้ไม่เพียงพอ มีหนี้ 2 ล้านล้าน ส่งผลให้ความเปราะบางของหนี้จะเพิ่มมากขึ้น เพราะรายได้ลดลง ซึ่งอาจจะกระทบต่อสถาบันการเงิน เพราะมีโอกาสเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ จึงคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงเหมือนสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ผ่านมา ปรับขึ้น 0.25% เนื่องจากความกังวลเรื่องหนี้ภาคครัวเรือน ดังนั้น จึงคาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 % ไปอีก 3 ครั้งในปีนี้ และหากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ปีหน้าอาจจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (Innovest X) เปิดเผยว่า การลงทุนในหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง แต่มีสภาพคล่องสูง สามารถเลือกบริษัท หรือ Sector ได้ แม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลก หรือภาวะตลาดอาจจะไม่ดี แต่ทุกครั้งที่มีหุ้นลง ก็จะมีหุ้นบางกลุ่มที่ปรับตัวขึ้น จึงเหมาะสำหรับการนำเงินบางส่วนมาลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยภาพรวมของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส3 และ 4 เศรษฐกิจไทยไม่ได้ขยายตัวมากนัก จากตัวเลข GDP ที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3% และดัชนีตลาดหลักทรัพย์มองว่าอยู่ที่ประมาณ 1,650 จุด และกรอบการเคลื่อนไหวสามารถไปได้ถึง 1,750 จุด ซึ่งตลาดหุ้นไทยได้รับอานิสงค์ของเม็ดเงินจากต่างประเทศ ตั้งแต่ต้นปีเงินไหลเข้ามาลงทุน ประมาณ 150,000 ล้านบาท ทำให้ดัชนีปรับตัวขึ้น โดยภาพรวมตลาดหุ้นไทย ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งเรื่องสงครามรัสเซีย -ยูเครน ปัญหาเงินเฟ้อสูง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และสิ่งแวดล้อม จากภัยแล้ง ซึ่งราคาหุ้นได้สะท้อนไปในช่วงไตรมาสที่ 3 แล้ว ที่มีการปรับตัวลงค่อนข้างลึกอยู่ในระดับ 1,500 จุด อาจเป็นช่วงที่ต่ำสุดของดัชนีหุ้นไทยในปีนี้ แม้ปัจจัยเสี่ยงยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องก็ตาม ทั้งนี้ Sector ที่ราคาหุ้นปรับตัวเป็นบวก ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว การแพทย์ และขนส่ง และคาดว่าผลประกอบการน่าจะดีขึ้นต่อเนื่องจากการเปิดเมือง ส่วน Sector ที่ได้รับปัจจัยเชิงบวกจากภาวะเงินเฟ้อ ได้แก่ กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ อาหาร และพลังงาน Sector ที่ได้รับผลทางบวกจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ กลุ่มธนาคาร และ ประกัน
“ ทีมงานนักวิเคราะห์ของ InnovestX ได้ทำการวิเคราะห์หุ้น จาก SET 50 และSET 100 พบว่าแนวโน้มผลประกอบการ กลุ่มท่องเที่ยว ประกัน อิเล็กทรอนิกส์ อสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร สื่อสาร ไฟแนนซ์ และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า ส่วนใหญ่จะมีทิศทางของผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังเป็นบวก กลุ่มเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะปรับตัวได้ดี ”นายสุกิจ กล่าว
นายธณาพล อิทธินิธิภัค Director and Head of Thai Business ,BlackRock เปิดเผยว่า นักลงทุนอาจจะต้องอยู่กับความผันผวนด้านการลงทุนอีกพักใหญ่ ทั้งจากปัญหาเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารทั่วโลก และ ความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ จากความขัดแย้งระหว่างประเทศ จึงแนะนำนักลงทุนปรับพอร์ตให้ Active มากขึ้นตามความผันผวน โดยลงทุนทั้งในหุ้น ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือก ที่สามารถเติบโตได้ในระยะยาว เนื่องจากไม่มีสินทรัพย์ใดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีได้ตลอดทุกปี จึงควรที่จะกระจายการลงทุนให้เหมาะสมกับสินทรัพย์ที่หลากหลาย และต้องมีระยะเวลาในการถือครองสินทรัพย์ที่ไม่สั้นเกินไปเพื่อให้สินทรัพย์เหล่านั้น มีเวลาในการสร้างผลตอบแทนได้
ทั้งนี้ BlackRock แบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ กลยุทธ์การลงทุน 1 ปีขึ้นไป ( Strategy view ) และกลยุทธ์การลงทุน ประมาณ 3-6 เดือน (Tactical view) มองว่าการลงทุนในระยะยาวยัง Bull risk อยู่มาก ส่วนระยะสั้น และระยะกลาง ยังได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ที่ส่งผลให้ต้นทุนบริษัทจดทะเบียนต่างๆสูงขึ้น และกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท การลงทุนในระยะยาวคงแนะนำลงทุนในหุ้น เพราะเป็นตราสารที่ชนะเงินเฟ้อ และเติบโตได้ในระยะยาว ตราสารหนี้ โดยรวมได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น แต่ตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond ) บางบริษัทมีกระแสเงินสดดี จ่ายผลตอบแทนสูง โดยมีกว่า 50% ให้ผลตอบแทนมากกว่า 4 %ต่อปี ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของตลาดในช่วงระยะสั้นถึงกลางได้
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ยังคงให้น้ำหนักลงทุนในหุ้น เพราะสามารถเติบโตได้ดีในระยะยาว พันธบัตรรัฐบาล ลดน้ำหนักการลงทุนลง (underweight ) ทั้งในส่วนของ Strategy view และ Tactical view แต่ให้น้ำหนักกับ Corporate Bond ประเภท Investment Grade ส่วน Private Asset ให้เป็น Neutral นักลงทุนส่วนใหญ่ยัง Under invest เราเน้นให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มนี้ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าและลดความผันผวนของพอร์ตลงได้ ทั้งนี้ การจัดพอร์ตของ BlackRock จะมองไป 5 ปี ข้างหน้า นำตัวเลขความเสี่ยง 6 ปีย้อนหลัง มาประกอบรวมกัน แล้วสร้างเป็นโมเดลการจัดพอร์ต แบบเดิมคือในหุ้น 60% และตราสารหนี้ 40 % แต่ได้ปรับโมเดลใหม่ โดย ลดหุ้น ลดตราสารหนี้ แล้วเพิ่มสินทรัพย์ทางเลือก 30 % จากตัวอย่างนี้ ส่งผลให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น และ ความเสี่ยงลดลง
ส่วนธีมการลงทุนจะเน้นในกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้ 1)กลุ่ม ESG การก้าวสู่สังคมพลังงานสะอาดเช่น รถยนต์ EV ,Circular Economyการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเท่าที่จำเป็นหรือการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ 2)กลุ่ม Digital Transformation การเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่เทคโนโลยียุคใหม่ ประเทศต่างๆ แข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อขึ้นมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก เช่น การพัฒนาระบบขนส่งในอนาคตที่เชื่อมโยงอุปกรณ์ Electronic ต่างๆเข้าด้วยกัน และ 3 ) Strong Pricing Power การลงทุนในบริษัทที่ขายสินค้าที่จำเป็น บริษัทที่สามารถส่งผ่านต้นทุนไปให้ผู้บริโภคได้โดยที่ไม่กระทบกับยอดขาย เช่น อุตสาหกรรม Health care มีปรับตัวลดลงน้อยกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ช่วยลดความผันผวนในพอร์ตลงทุนได้ และยังมีนโยบายต่างๆออกมาสนับสนุน ในช่วง5 ปีที่ผ่านมาสหรัฐ เพิ่มงบลงทุนใน Healthcare จาก3 ล้านล้านเหรียญ เป็น 4 ล้านล้านเหรียญ ญี่ปุ่นเพิ่มจาก 4 แสน เป็น 6 แสนล้านเหรียญ ยูโรเพิ่มจาก1.3 ล้านล้านเหรียญ เป็น 1.4 ล้านล้านเหรียญ โดยรวมปีที่แล้วงบที่ลงทุน ใน Healthcare สูงถึง 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่หนุนให้อุตสาหกรรม Healthcare มีการเติบโต นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรโลกประมาณ 7,000 ล้านคน ปัจจุบัน1 ใน6 ของประชากรโลกอายุเกิน 60 ปี หรือประมาณกว่า 1,000 ล้านคน กลุ่มนี้จะเพิ่มฐานคนใช้บริการในกลุ่ม Healthcare มากขึ้น
นายอาทิตย์ ทองเจริญ Head of Thailand Business , Schroders Investment Management ( Singapore) Ltd. เปิดเผยว่า มุมมองการลงทุนครึ่งปีหลังไปจนถึงปีหน้า มีความกังวลเรื่องคือเงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)จากตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนกรกฎาคม ค่อนข้างที่จะชะลอลง ทำให้นักลงทุนเริ่มมีความคลายความกังวล แต่ไปดูตัวเลขเชิงลึก เงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงมาจากราคาพลังงานที่ลดลง ในขณะที่ราคาอาหาร ต้นทุนสินค้า และบริการ ยังชะลอตัวลงไม่มากนัก ถ้าตัดราคาพลังงานออก พบว่า เงินเฟ้อของเดือนกรกฎาคม ยังสูงขึ้นจากเดือนมิถุนายน ประมาณ 0.4%ดังนั้น เงินเฟ้อ อาจจะยังไม่ได้ชะลอตัวลง และปัจจัยที่สำคัญของต้นทุนเงินเฟ้อ คือราคาสินค้า และบริการ ส่วนค่าแรง ยังไม่ได้ปรับลดลงมากนัก จึงมองว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง และน่าจะยังสูงต่อเนื่อง จึงยังคงมีความเสี่ยงการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
พอร์ตการลงทุนของ Schroders จะเป็นการจัดพอร์ตแบบตั้งรับ ในกรณีที่มีความเสี่ยงเข้ามา พอร์ตลงทุนจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ในขณะเดียวกันหากไม่เกิด Recession ก็ยังสามารถที่จะปรับพอร์ต ให้ตอบสนองกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจได้ ปัจจุบันนี้ ลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้น (Underweight) เพราะกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน แม้ไตรมาสที่ผ่านมาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะออกมาค่อนข้างดี แต่เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น จึงคาดว่าประกอบการในไตรมาส 3 - 4 น่าจะเริ่มชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นหุ้นสหรัฐและจีน ยังคงมีความน่าสนใจมาก ส่วนตราสารหนี้ภาครัฐ มีการปรับลดน้ำหนักการลงทุนเช่นกัน เนื่องจากราคาสูง และมีอายุตราสารที่ยาว เมื่อดอกเบี้ยขึ้นจะได้รับผลกระทบในเชิงลบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่ออัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐยังคงต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่ให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนสหรัฐ ประเภท Investment grade และตราสารหนี้ของตลาดเกิดใหม่ ที่เป็นสกุลเงินดอลล่าร์ เพราะเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ภาครัฐของต่างประเทศแล้ว ระดับราคาของตราสารหนี้เอกชนยังคงอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ส่วนสินค้าโภคภัณฑ์ ให้น้ำหนัก ทองคำ สามารถป้องกันความเสี่ยงในภาวะที่เกิด Recession ได้ นอกจากนี้ พิจารณาเลือกสินทรัพย์ประเภท Private Asset เพราะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตได้ เน้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค และ Healthcare ส่วน Private Dept หรือหุ้นเอกชนนอกตลาด เลือกกลุ่มที่ได้รับดอกเบี้ยในระดับที่เป็นอัตราลอยตัว กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่มีกระแสเงินสดดี
สำหรับธีมการลงทุน Schroders ให้ความสำคัญกับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ตอบสนองและใส่ใจต่อสังคมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และการทำความดี โดยเลือกลงทุนในกองทุนที่ยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งระยะยาวมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูง โดยมองข้ามความผันผวนระยะสั้น ธีมการลงทุนที่น่าสนใจ 5 แบบประกอบด้วย 1) Clean energy หรือ พลังงานสะอาด จะได้รับความสนใจเนื่องจากว่าทุกคน รวมถึงภาครัฐให้ความใส่ใจเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด จะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาและส่งผลในเชิงบวกระยะยาวมากขึ้น 2) กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานแบบมีประสิทธิภาพ เช่น วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่ช่วยลดการใช้พลังงาน หรือหลอดประหยัดพลังงาน แผงพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น 3)กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำ การกำจัดของเสีย ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Waste management ของรีไซเคิล์ต่างๆ น่าจะได้รับผลประโยชน์ในระยะยาวได้มากขึ้น 4) Low carbon leaders เป็นกลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ และ 5 ) Sustainnable Transport ระบบการขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด เช่นรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถไฟไฟฟ้า เป็นต้น กลุ่มนี้จะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่จะเน้นลงทุนในองค์ประกอบ ที่ใช้เป็นวัตถุในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แผงวงจรสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS