{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสวนป่า ระยะที่ 2-3 ในสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” ณ สวนสาธารณะ “เบญจกิติ” ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยข้าราชการ และประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่ากระทรวงการคลังได้เล็งเห็นความสำคัญในการใช้ที่ราชพัสดุเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการพัฒนาที่ราชพัสดุซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของโรงงานยาสูบเนื้อที่ 450 ไร่ เพื่อจัดสร้างสวนขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยแบ่งพื้นที่เป็นจัดสร้างสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นสวนน้ำ เนื้อที่ 130 ไร่ และส่วนที่ 2 เป็นสวนที่มีบรรยากาศสวนป่า เนื้อที่ 320 ไร่
พื้นที่ในส่วนแรก กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการจัดสร้างสวนน้ำ เนื้อที่ประมาณ 130 ไร่ และได้เปิดให้ ประชาชนเข้าใช้บริการมาตั้งแต่ปี 2547 ภายในสวนน้ำ ประกอบด้วย บึงน้ำขนาดใหญ่ ที่มีทางเดินและทางจักรยาน โดยรอบบึง มีพื้นที่พักผ่อนและออกกำลังที่ร่มรื่นด้วยสีเขียวจากแมกไม้นานาพันธุ์ จากความสำเร็จของสวนน้ำ กรมธนารักษ์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพมหานคร จึงดำเนินการจัดสร้างสวนป่า ที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และจะเป็นส่วนเติมเต็มสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” ทั้งหมดให้มีความสมบูรณ์ ทั้ง “ป่า” และ “น้ำ” ตามแนวพระราชดำริ “ป่ารักน้ำ” ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สำหรับพื้นที่ส่วนที่สอง กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการจัดสร้างสวนป่า เนื้อที่ 320 ไร่ โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ ตามการส่งมอบพื้นที่ของการยาสูบแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย ระยะที่ 1 เนื้อที่ประมาณ 61 ไร่ กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2559 และได้ส่งมอบพื้นที่ดังกล่าว ให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาและบริหารจัดการ และในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมากรมธนารักษ์โดยในปี 2562 กรมธนารักษ์ได้กำหนดแผนการดำเนินโครงการจัดสร้างสวนป่า ระยะที่ 2-3 โดยรวมงานออกแบบงานรื้อถอน และการก่อสร้างสวนป่า ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 เนื้อที่รวม 259 ไร่ ไว้ในคราวเดียวกัน เพื่อให้รูปแบบการจัดสร้างสวนมีความต่อเนื่องสอดคล้องกัน ซึ่งกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และการยาสูบแห่งประเทศไทยได้ปรับแผนการส่งมอบพื้นที่ให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินโครงการของกรมธนารักษ์ แต่เนื่องจากการก่อสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ของการยาสูบแห่งประเทศไทยยังไม่แล้วเสร็จ และมีความจำเป็นต้อง สงวนพื้นที่เดิมไว้ใช้เพื่อผลิตยาสูบ จึงได้ทยอยส่งมอบพื้นที่พร้อมอาคารราชพัสดุให้กรมธนารักษ์เป็น 3 ระยะ
ในปี 2563 กรมธนารักษ์ได้สำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำรายละเอียดการจ้างออกแบบผังแม่บทสวนป่า ระยะที่ 2-3 โดยวางแนวคิดการออกแบบพื้นที่ 259 ไร่ ให้เป็นสวนป่าเชิงนิเวศ มีพื้นที่สวนป่ามากที่สุด โดยให้เก็บ รักษาต้นไม้เดิมทั้งหมดไว้และปลูกต้นไม้เพิ่มในพื้นที่โครงการฯ การเก็บรักษาถนนเดิมในพื้นที่ไว้เพื่อไม่ให้กระทบ ต่อรากต้นไม้ พร้อมทั้งให้ออกแบบปรับปรุงอาคารเดิมในพื้นที่จำนวน 4 หลัง ซึ่งเป็นอาคารโรงงานผลิตยาสูบ และอาคารโกดังที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ใช้ประโยชน์ โดยให้ปรับปรุงเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่มีพื้นที่สำหรับเตรียมจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สำหรับ อาคารโกดังเดิมจำนวน 3 หลัง วางแนวคิดให้เป็นอาคารกีฬา เพื่อเป็นพื้นที่ที่ประชาชนได้ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน
นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมธนารักษ์ได้จัดจ้างบริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อมอาศรมศิลป์ จำกัด เพื่อดำเนินการออกแบบผังแม่บทและรายละเอียดโครงการจัดสร้างสวนป่า ระยะที่ 2-3 โดยออกแบบผังแม่บทสวนป่า ระยะที่ 2-3 ภายใต้แนวคิดในการสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการปลูกป่าในใจคน
ด้วยการเป็นสวนป่าสำหรับคนเมือง (Urban Forest) ที่เชื่อมโยงและเอื้อต่อการเข้ามาทำกิจกรรมและใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตของคนเมือง เป็นแหล่งเรียนรู้มีชีวิต ที่สร้างความผูกพันและสำนึกรักในคุณค่าของป่า น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม และสำนึกหวงแหนดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในการออกแบบได้เน้นให้มีพื้นที่สวนป่ามากที่สุด มีพื้นที่ป่าและพื้นที่น้ำร้อยละ 85 โดยปลูกต้นไม้เพิ่มในพื้นที่โครงการฯ กว่า 7,000 ต้น มีพรรณไม้ประมาณ 350 ชนิด ทั้งไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน และไม้น้ำ และเพื่อให้สวนป่าแห่งนี้สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองจึงได้ออกแบบให้มีบึงน้ำจำนวน 4 บึง สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 128,000 ลูกบาศก์เมตร ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครต่อไปในอนาคต
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในโครงการได้ใช้ระบบบำบัดน้ำแบบบึงประดิษฐ์ โดยใช้กระบวนการทางธรรมชาติของระบบรากพืชชุ่มน้ำ และได้ออกแบบบ่อดักตะกอน ซึ่งเป็นจุดแรกในการรับน้ำจากคลองไผ่สิงโต มีสารแขวนลอยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัด ช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำจากคลองไผ่สิงโต เพื่อนำมาใช้รดน้ำต้นไม้ในโครงการ อีกทั้งมีเส้นทางเดิน ทางวิ่ง ทางจักรยาน ระยะทางรวม 4 กิโลเมตร มีทางเดินศึกษาธรรมชาติลัดเลาะไปตามต้นไม้ใหญ่และบึงน้ำ มีการออกแบบทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk) ความสูง 5-8 เมตร ที่สามารถมองเห็นมุมมองในระยะสูงเป็นอีกหนึ่งจุดไฮไลท์ของสวนที่สามารถให้ทุกๆ คน เดินเชื่อมไปยังส่วนอื่น ๆ ของพื้นที่สวนป่าได้ในส่วนของงานสถาปัตยกรรมได้ออกแบบอาคารโรงงานผลิตยาสูบเดิมให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต การเรียนรู้ที่หลากหลาย มีพื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สำหรับอาคารโกดังเดิมจำนวน 3 หลัง ได้ปรับปรุงเป็นอาคารกีฬา และได้เปิดพื้นที่กลางอาคารทั้ง 4 หลัง ให้โปร่งโล่งและปลูกต้นไม้เพิ่มกลางอาคารโดยใช้แนวคิดออกแบบอาคารเขียว เป็นพื้นที่ที่ประชาชนได้ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน
กรมธนารักษ์ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการก่อสร้างสวนป่า ระยะที่ 2-3 มีระยะเวลาการก่อสร้าง 16 เดือน เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2564 โดยขอความร่วมมือจากกองทัพบกเป็นผู้รับดำเนินการก่อสร้างสวนป่า ระยะที่ 2-3 เนื้อที่ประมาณ 259 กองทัพบกได้แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 พื้นที่ เริ่มเข้าดำเนินการ ในพื้นที่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563
จากการดำเนินการก่อสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 ที่ผ่านมาในเดือนธันวาคม 2564 กองทัพบกได้ก่อสร้างสวนป่า ระยะที่ 2-3 แล้วเสร็จไปบางส่วนแล้ว เนื้อที่ประมาณ 160 ไร่ และกรมธนารักษ์ ได้อนุญาตให้กรุงเทพมหานครใช้ที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวเพื่อดูแลบำรุงรักษา สำหรับพื้นที่สวนป่า ระยะที่ 2-3 ในส่วนที่เหลือ 103 ไร่ ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสวนบางส่วน การก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าเชื่อมกับสะพานลอยข้าม ทางด่วนเฉลิมมหานคร ซึ่งเป็นการเชื่อมสวนป่ากับสะพานเขียวให้ประชาชนสามารถสัญจรไปสวนลุมพินีได้สะดวก และปลอดภัยมากขึ้น และมีงานปรับปรุงอาคารเดิมจำนวน 4 หลัง ขณะนี้กองทัพบกได้ก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ เนื้อที่ 259 ไร่ พร้อมส่งมอบพื้นที่สวนดังกล่าวให้กรมธนารักษ์ โดยสวนป่าแห่งนี้เป็นสวนที่แสดงให้เห็นถึงการน้อมนำพระราชดำริมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับปวงชนชาวไทยที่สร้างการตระหนักรู้ถึงการอยู่ร่วมกัน ระหว่าง คน สัตว์ ป่า การอยู่ร่วมกับธรรมชาติที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน สวนแห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนชาวไทย ได้มีส่วนร่วมแสดงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ที่จะมาถึงนี้ และกรมธนารักษ์ คาดหวังว่าสวนป่าแห่งนี้จะช่วยให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งความสุขต่อไปได้
สำหรับพิธีเปิดสวนป่า ระยะที่ 2-3 ในสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” ในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปลูกต้นรวงผึ้ง จำนวน 2 ต้น เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับสวนสาธารณะแห่งใหม่ใจกลางกรุงของคนกรุงเทพอีกด้วย นายประภาศกล่าวตอนท้าย
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS