{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากชีวมวล-ชีวภาพ-ขยะ ขนาดเล็กมากหรือ VSPP มีแนวโน้มเติบโตจากการสนับสนุนของภาครัฐและตามกระแส BCG economy ซึ่งจะสร้างโอกาสการลงทุนแก่วิสาหกิจชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้า หรือกลุ่มที่มีวัสดุเหลือใช้
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล-ชีวภาพ-ขยะ มีทิศทางขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากภายหลังการประชุม COP 26 ทำให้ทั่วโลกตื่นตัวแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ วิกฤตพลังงานในปัจจุบันที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ทำให้หลายประเทศรวมถึงไทยมีความกังวลด้านความมั่นคง และราคาพลังงาน โดยเร่งทบทวนแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อทดแทนไฟฟ้าที่ผลิตจากฟอสซิล อาทิ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในปี 2021 ทั่วโลกมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล-ชีวภาพ-ขยะที่ 1.4 แสนเมกะวัตต์ โดยในจำนวนนี้มาจากเอเชียมากที่สุดราว 39% ของกำลังการผลิตของโลก และในช่วงปี 2021-2025 กำลังการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล-ชีวภาพ-ขยะทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโต 5.7%ต่อปี
“วิกฤตพลังงานโลกที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ จะกดดันให้ราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการผลิตไฟฟ้าโดยรวมในไทยยืนอยู่ในระดับสูงนาน ดังนั้น การหันไปผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล-ชีวภาพ-ขยะ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาต้นทุนรวมของการผลิตไฟฟ้าในไทยได้ ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในไทยมีต้นทุนสูงถึง 3.3 บาท/หน่วย ขณะที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล-ชีวภาพ-ขยะ อยู่ที่เพียง 0.7-2.3 บาท/หน่วย เท่านั้น”
นางสาวนิรัติศัย ทุมวงษา นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ธุรกิจประเภทนี้มีแนวโน้มเติบโตดีจากการสนับสนุนของภาครัฐมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งสะท้อนจากแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมจากพลังงานชีวมวล-ชีวภาพ-ขยะ ขยายตัวที่ 6% ในช่วงปี 2021-2037 โดยในปี 2037 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ภาครัฐตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ 7,077 เมกะวัตต์ เนื่องจากไทยมีศักยภาพด้านวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรซึ่งเป็นต้นทุนวัตถุดิบหลักของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล-ชีวภาพ-ขยะ
“อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้ามองว่า ภาครัฐจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือ VSPP มากขึ้น โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งริเริ่มโครงการเฟสแรกเมื่อปี 2019 เพื่อให้ตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าอย่างเต็มที่และสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ทั่วทุกพื้นที่ในไทยในระยะข้างหน้า เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังมีครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้อยู่ถึง 57,440 ครัวเรือน อีกทั้งโครงการดังกล่าวช่วยสร้างรายได้แก่ชุมชนด้วย เนื่องจากจะต้องใช้วัตถุดิบหรือวัสดุเหลือใช้จากในชุมชนเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า”
นายพงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเสริมว่า จำนวนโรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล-ชีวภาพ-ขยะขนาด VSPP ในระยะ 5 ปีข้างหน้า (2021-2026) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกราว 430 แห่ง ในจำนวนนี้แบ่งเป็น ชีวมวลจำนวน 54 แห่ง ชีวภาพ 236 แห่ง และขยะ 140 แห่ง ตามลำดับ เมื่อพิจารณาศักยภาพและปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและขยะที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าหมุนเวียนแต่ละประเภทร่วมด้วย พบว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลโดยรวมมีทรัพยากรวัตถุดิบที่มากเพียงพอสำหรับผลิตไฟฟ้าตามเป้าหมายของแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ขณะที่ โรงไฟฟ้าชีวภาพและโรงไฟฟ้าขยะ ปัจจุบันมีเชื้อเพลิงที่มีศักยภาพไม่เพียงพอถึงปี 2037 ดังนั้น ผู้ที่สนใจจะสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวจึงควรเตรียมความพร้อมด้านเชื้อเพลิงจากทั้งสองกลุ่มนี้
“การลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล-ชีวภาพ-ขยะ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า เนื่องจากโรงไฟฟ้าในกลุ่มนี้มีการปล่อยฝุ่นละออง ขี้เถ้า เขม่า และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าในไทยได้แก้ปัญหาดังกล่าวโดยการนำเอาเทคโนโลยีการดักจับฝุ่นละอองมาใช้ เพื่อควบคุมปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 และเขม่า ให้เป็นตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว”
ส่วนในระยะข้างหน้าคาดว่า กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันที่ใช้ในโรงไฟฟ้าในไทยไม่สามารถดักจับได้ ดังนั้น อาจจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ อย่าง carbon capture ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าลงทุนสูงมาก จึงต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS