{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
กลุ่มปตท. จับมือกับ ปัญจวัฒนาพลาสติก (PJW) ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากพลาสติกในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง ต่อยอดธุรกิจ คาดดีลแล้วเสร็จภายในช่วงปลายปี 2565 นี้ ก่อนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนก่อสร้างโรงงานและลงทุนเครื่องจักร เพื่อการผลิต (OEM) สินค้าจำหน่ายต่อไปภายในปี 2566
บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด“INNOBIC” โดยดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ร่วมด้วย ดร.ณัฐ อธิวิทวัส รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด “INNOBIC” และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) “IRPC” โดย นายสมเกียรติ เลิศฤทธิ์ภูวดล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์แผนและพัฒนาธุรกิจองค์กร ร่วมกับ บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) หรือ “PJW” ร่วมลงนาม ในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อร่วมกันศึกษาและหาโอกาสทางธุรกิจในธุรกิจวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ ภายใต้การร่วมศึกษาข้อมูลตลาดเครื่องมือแพทย์ การออกแบบและพัฒนาการผลิตเครื่องมือแพทย์ การศึกษาความเป็นไปได้ของตลาดในด้านต่างๆ และศึกษากฎเกณฑ์ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ทางธุรกิจ
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด “INNOBIC” เปิดเผยถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า กลุ่ม ปตท. และ INNOBIC มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมกลุ่ม NEW S Curve และการเป็น MEDICAL Hub ของรัฐบาล ซึ่งอุตสาหกรรมวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ถือ เป็น NEW S Curve ที่สำคัญของประเทศไทย โดยทางบริษัท ต้องการให้ความร่วมมือนี้ เป็นการสร้างฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ของอาเซียนในประทศไทย สามารถสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมไทย ทั้งนี้ จะศึกษาเพื่อผลิตสินค้าที่มีความต้องการของตลาดแต่ยังไม่มีนวัตกรรมที่เหมาะสมและยังไม่ได้ผลิตในประเทศในปัจจุบัน ซึ่งการร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นรากฐานและเป็นตัวอย่างที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของไทยต่อไปในอนาคต
ด้าน ดร.ณัฐ อธิวิทวัส รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด “INNOBIC” กล่าวย้ำถึงความมุ่งมั่นของ INNOBIC ที่จะพัฒนาธุรกิจวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ให้ประสบผลสำเร็จร่วมกับ IRPC และ PJW โดยจะเป็นโครงการพัฒนาต่อเนื่องหลังจากทาง INNOBIC มีการร่วมทุนในการผลิตวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ ในกลุ่มผ้าชนิดไม่ถักไม่ทอ ที่เป็นวัสดุหลักของการผลิตหน้ากากอนามัย ร่วมกับทาง IRPC ไปก่อนหน้าแล้ว รวมถึงยังได้ร่วมทุนเพิ่มเติมกับพันธมิตรกลุ่มวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อเป็นฐานผลิตในการอุปกรณ์การแพทย์ที่เป็น Durable Medical Device ทั้งนี้ ดร.ณัฐ คาดหวังว่า ด้วยศักยภาพของทั้ง 3 บริษัท จะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ สามารถผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศไทยและกลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้ด้วย เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจวัสดุทางการแพทย์ของไทย
นายสมเกียรติ เลิศฤทธิ์ภูวดล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์แผนและพัฒนาธุรกิจองค์กร บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า ด้วยทิศทางตลาดเครื่องมือและวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์มีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 เป็นปัจจัยหนุนให้ความต้องการผลิตภัณฑ์กลุ่ม Medical มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับช่วงปี 2565 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged society) หรือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และอีก 9 ปี ข้างหน้า ในปี 2574 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจะเป็นโอกาสทางการตลาดที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ smart material กลุ่ม Specialty Plastic หรือเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ
สำหรับผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข (medical application) Smart Material ที่ได้คิดค้น วิจัย พัฒนาและผลิตเม็ดพลาสติก PP Meltblown วัตถุดิบหลักสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดกาวน์ เป็นรายแรกของประเทศ พร้อมทั้งได้จัดตั้ง "วชิรแล็บเพื่อสังคม" ห้องปฏิบัติการกลางเพื่อทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่งความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่ายในครั้งนี้จะสามารถประสบผลสำเร็จทางธุรกิจ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และขยายห่วงโซ่อุปทานธุรกิจปิโตรเคมีของ IRPC โดยใช้องค์ความรู้ ประสบการณ์ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน และเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของประเทศที่ทั้ง 3 บริษัท จะร่วมกันศึกษา พัฒนา และแสวงหาโอกาสในการลงทุนร่วมกันในธุรกิจผลิต และจำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ทางการแพทย์ โดยมุ่งหวังที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคง และแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตและสาธารณสุขของคนไทย พร้อมทั้งสนับสนุนและผลักดันนโยบายของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็น Medical Hub อย่างเต็มรูปแบบ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ส่วนนายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) หรือ หรือ PJW กล่าวว่า จากทิศทางและโอกาสทางการตลาดของอุตสาหกรรมวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ที่มีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียนตามที่ทาง INNOBIC และ IRPC ได้กล่าวมาแล้วนั้น
ขณะเดียวกัน ด้วยนโยบายพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ในอนาคต จะเป็นส่วนผลักดันให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากพลาสติกในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อศึกษาและหาโอกาสทางธุรกิจ ในธุรกิจวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ ระหว่าง บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) “IRPC” บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด “INNOBIC”และบริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) “PJW” จะเป็นส่วนสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากพลาสติกของประเทศไทย และเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์ในอนาคต
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นการต่อยอดธุรกิจภายใต้การเป็น Strategic Partner ร่วมกัน โดยนำจุดแข็งความเชี่ยวชาญของทั้ง 3 บริษัทมาช่วยผลักดันในการสร้างมูลค่าการตลาดผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากพลาสติกในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง ให้เพิ่มสูงขึ้น และยังร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน ภายใต้การแสวงหาโอกาสในการลงทุนร่วมกันในธุรกิจผลิต และจำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ทางการแพทย์ โดยมุ่งหวังที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงและแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่สามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ สอดรับกับการที่ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็น Medical Hub อย่างเต็มรูปแบบ และยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต
ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากพลาสติกในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาร่วมกันกับพันธมิตรทั้ง 3 บริษัท คาดว่าสินค้าบางตัวจะแล้วเสร็จภายในช่วงปลายปี 2565นี้ โดยจะเริ่มจากการสั่งผลิต (OEM) สินค้าเพื่อนำมาจำหน่ายก่อน และหลังจากนั้นจะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (JV) เพื่อก่อสร้างโรงงานและลงทุนเครื่องจักร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในครึ่งหลังของปี 2566 ในขณะเดียวกัน ในกรอบ MOU นอกจากจะพัฒนาสินค้าด้วยตัวเองแล้ว ยังจะมีการศึกษาและมองหาโอกาสในการเข้าซื้อกิจการ เพื่อที่จะนำองค์ความรู้ต่างๆ เข้ามาช่วยในการสนับสนุนและเร่งรัดการเติบโตของบริษัทไปพร้อมๆกันด้วย
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS