เจาะผลสำรวจการซื้อที่อยู่อาศัยปี 2565...บ้านแบบไหนตรงใจผู้บริโภค

ผลสำรวจของ EIC สะท้อนว่าตลาดที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ จากการเลื่อนแผนการซื้อที่อยู่อาศัยออกไป และคนส่วนใหญ่มองว่าการฟื้นตัวของตลาดยังต้องอาศัยมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ ขณะที่พฤติกรรมในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่สนใจแนวราบที่ระดับราคาเข้าถึงได้ และตลาดบ้านมือสองยังได้รับความสนใจค่อนข้างมาก

ตลาดที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 หลายด้านทั้งความต้องการที่ชะลอตัวและพฤติกรรมในการเลือกที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป

• ความต้องการที่อยู่อาศัยชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มรายได้เปราะบาง ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทำให้มีการเลื่อนการซื้อที่อยู่อาศัยออกไป 2-3 ปีข้างหน้า และการลดงบประมาณซื้อที่อยู่อาศัยลง จากข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น รายได้ลดลง วงเงินกู้ที่ได้รับจากธนาคารลดลง

• ตลาดต่างจังหวัดยังชะลอตัว นอกจากการชะลอตัวของ real demand ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจแล้ว ยังรวมถึงการซื้อเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 เพื่อการลงทุนและเพื่อเตรียมเกษียณ ขณะที่การซื้อของตลาดต่างชาติยังฟื้นตัวได้ช้า โดยเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่ได้รับความสนใจในการซื้อที่อยู่อาศัยมากที่สุด

• คนส่วนใหญ่หันมาสนใจที่อยู่อาศัยแนวราบ เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ด้านพื้นที่ใช้สอยในยุค New normal และเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตมากขึ้น

• คนส่วนใหญ่สนใจซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จากข้อจำกัดของกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ ซึ่งเป็นระดับราคาที่อาจเข้าถึงแนวราบประเภทบ้านเดี่ยวบ้านแฝดได้ค่อนข้างยาก จึงเป็นโอกาสของตลาดทาวน์เฮาส์ และคอนโด

• ในสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังซื้อยังเปราะบางส่งผลให้คนสนใจที่อยู่อาศัยมือสองค่อนข้างมาก จากราคาที่ถูกกว่าโครงการใหม่ อีกทั้ง ยังต้องการอยู่ในทำเลที่สะดวก เช่น ใกล้ที่ทำงาน สถานศึกษา ซึ่งอาจหาที่อยู่อาศัยมือหนึ่งในราคาที่ถูกได้ยากในบางทำเล

• การฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยยังต้องอาศัยปัจจัยกระตุ้น โดยมาตรการภาครัฐ ทั้งมาตรการผ่อนคลายอัตราส่วนสินเชื่อต่อราคาที่อยู่อาศัย (LTV) ซึ่งทำให้สามารถกู้ได้ 100% และการต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท รวมถึงการจัดโปรโมชันของผู้ประกอบการ ในช่วง COVID-19 กระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยให้เร็วขึ้น

นอกเหนือจากทำเล รูปแบบของที่อยู่อาศัย และระดับราคาแล้ว ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับการออกแบบโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการอยู่อาศัยในหลายด้าน รวมถึงบริการหลังการขายที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัย

• เทคโนโลยี มีส่วนต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับระบบความปลอดภัย และการจัดการพลังงาน ที่จะช่วยอำนวยความสะดวก และประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้อยู่อาศัย

• ความปลอดภัยเป็นปัจจัยที่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยทุกวัยให้ความสำคัญสูงสุด โดยระบบเตือนภัยต่าง ๆ เป็นอุปกรณ์ smart home ที่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยอยากให้มีติดตั้งในที่อยู่อาศัยมากที่สุด รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัยภายในโครงการที่ต้องได้มาตรฐาน รองลงมาคือ ปัจจัยด้านพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนหรือจัดสรรใหม่ได้ตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยในแต่ละสถานการณ์

• นอกจาก 2 ปัจจัยหลักข้างต้น ปัจจัยที่คนแต่ละช่วงวัยให้ความสำคัญลำดับถัดมา ได้แก่

1. Gen Y&Z : แม้จะต้องการความเป็นอิสระส่วนตัวสูง แต่ในการอยู่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวก็ยังให้ความสำคัญกับ Universal design ที่คำนึงถึงคนกลุ่มต่าง ๆ ในครอบครัว เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สัตว์เลี้ยง

2. Gen X และ baby boomer ให้ความสำคัญกับการออกแบบและระบบต่าง ๆ ที่ช่วยประหยัดพลังงาน สะท้อนการให้ความสำคัญกับการประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว

3. นอกจากนี้ ทุกช่วงวัยให้ความสำคัญกับทางเลือกในการ customize รูปแบบ หรือวัสดุต่าง ๆ ได้

• แอปพลิเคชันติดต่อนิติบุคคลเป็นบริการหลังการขายที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยสูงที่สุด สะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อ และการเข้าถึงเทคโนโลยีที่จะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกต่อผู้อยู่อาศัยมากขึ้น

EIC มองว่าผู้ประกอบการยังเผชิญความท้าทายในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีต้นทุนที่สูงขึ้น ในขณะที่ตลาดยังมีข้อจำกัดอยู่มากจากกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวได้ช้า ส่งผลให้ต้องระมัดระวังในการเปิดโครงการใหม่ เน้นตอบโจทย์กลุ่มที่มีศักยภาพ ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว อาทิ นำเสนอความคุ้มค่า และสร้างความแตกต่าง

ความท้าทาย

• การฟื้นตัวในระยะข้างหน้า เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์กำลังซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มรายได้เปราะบาง

• ต้นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งราคาวัสดุก่อสร้าง แรงงาน และราคาที่ดิน

• ยังมีโอกาสในการเกิดภาวะอุปทานส่วนเกิน ส่งผลให้การเปิดโครงการใหม่ต้องเป็นไปอย่างอย่างระมัดระวัง และมีการบริหารความเสี่ยง

การปรับกลยุทธ์ของผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัย

• ในช่วงที่ตลาดที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ผู้ประกอบการยังสามารถเจาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อ / มีศักยภาพ โดยยังมีผู้ซื้อที่อยู่อาศัยบางกลุ่มตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเร็วขึ้นในช่วงที่ COVID-19 ระบาด จากการจัดโปรโมชันของผู้ประกอบการ การซื้อก่อนที่ราคาที่อยู่อาศัยจะปรับขึ้น รวมถึงมีการซื้อที่อยู่อาศัยที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

เพื่อตอบโจทย์อยู่อาศัยที่บ้านมากขึ้น

• นำเสนอความคุ้มค่า ด้วยสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการอยู่อาศัยขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

ความปลอดภัย และความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนฟังก์ชัน / การออกแบบให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย

• สร้างความแตกต่างด้วยสินค้า และบริการใหม่ ๆ เช่น สภาพแวดล้อมและบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เทคโนโลยี / บริการใหม่ ๆ ทางเลือกให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้เลือกจ่ายเงินเพิ่ม สำหรับบริการหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก และประหยัดค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาว

อ่านต่อรายงานฉบับเต็มได้ที่...https://www.scbeic.com/th/detail/product/8292

โดย : Economic Intelligence Center

ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน

EIC Online: www.scbeic.com

Line : @scbeic


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment