{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
TIPMSE ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ และองค์กรเครือข่ายภาคเอกชน รวม 50 องค์กร เปิดเวทีสัมมนา “EPR ทางรอดของธุรกิจไทย และการมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน” อภิปรายทิศทางการแก้ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน นำกลับมาใช้เป็นทรัพยากรใหม่ โดยใช้กลไก EPR
นายโฆษิต สุขสิงห์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ในฐานะประธาน สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) เปิดเผยว่า TIPMSE สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กรมควบคุมมลพิษ และเครือข่าย รวม 50 องค์กร ร่วมจัดงานสัมมนา ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ ZOOM หัวข้อ “EPR ทางรอดของธุรกิจไทย และการมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องความสำคัญของกลไก EPR ในการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy : CE)และเป็นการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน
“การสัมมนามุ่งสร้างความเข้าใจหลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) หรือ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต(Brand owner) เพื่อนำบรรจุภัณฑ์หลังบริโภคกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ที่ไม่ใช่เฉพาะจำกัดแต่เพียงผู้ผลิต หากแต่ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ผู้จัดเก็บรวบรวม หน่วยงานรัฐ องค์กรอิสระ ล้วนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากลไกดังกล่าวให้เกิดรูปแบบที่เหมาะสมกับไทย และยังเป็นการขยายผลโครงการ PackBack …เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน ที่จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือและพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์แบบยั่งยืนให้มากขึ้น” นายโฆษิต กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 โครงการ PackBack …เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน ได้เกิดขึ้นโดย TIPMSE ร่วมมือกับ 50 องค์กร ภาครัฐ เอกชน ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้รวบรวม โรงงานรีไซเคิล และเทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึงและเทศบาลตำบลเกาะสีชัง เริ่มโครงการนำร่องในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เพื่อส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้ศึกษารูปแบบ EPR ในการจัดการกับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วประเภทต่างๆ ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้บรรจุภัณฑ์หมุนเวียนกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่งผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมมือกันในการจัดทำนโยบาย EPR ที่เหมาะสมเพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะจากขยะบรรจุภัณฑ์ อย่างไรก็ตามการนำ EPR ไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาขยะโดยเฉพาะพลาสติกยังคงเป็นความสมัครใจ ซึ่งระยะต่อไป ทาง คพ.กำลังพิจารณาที่จะยกร่างเป็นกฎระเบียบหรือกฎหมายให้เกิดการบังคับใช้ในอนาคต เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
“TIPMSE ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนผลักดันการนำ EPR มาใช้ซึ่งยังเป็นภาคสมัครใจเพื่อเร่งแก้ปัญหาขยะพลาสติกตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม รวมถึงบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เช่น แก้ว กระดาษ ที่การใช้มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่อง และความร่วมมือครั้งนี้ยังเป็นการเตรียมพร้อมก่อนที่จะมีมาตรการ และกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งในต่างประเทศได้มีการนำระบบ EPR นำมาใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันตามบริบทของประเทศ ดังนั้นไทยต้องกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนต่อความรับผิดชอบ และการสร้างจิตสำนึกในด้านการจัดการพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ ให้กับทุกกลุ่มในภาคสังคมรวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์ และรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและร่วมรับมือลดภาวะโลกร้อน” นายอรรถพลกล่าว
การเสวนา “EPR ทางรอดของธุรกิจไทยและการมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน” ไม่เพียงให้ความรู้เรื่องกลไก EPR แต่ยังตอบโจทย์ผู้ประกอบการเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและการดูแลสิ่งแวดล้อม อีกทั้งทราบทิศทางนโยบายของภาครัฐในการใช้กลไก EPR เพื่อจัดการปัญหาขยะในประเทศไทยและแนวทางพัฒนาตาม BCG Model โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังสัมมนาจากทุกภาคส่วนรวมทั้งสิ้นมากกว่า 200 คน หากท่านสนใจรับชมเวทีเสวนาย้อนหลัง สามารถรับชมได้ที่ www.facebook.com/tipmse และหากสนใจร่วมเป็นเครือข่ายขับเคลื่อน EPR กับ TIPMSE สามารถติดต่อ โทร คุณจรรยา 02 345 1293.คุณกวีนา 02 345 1294..หรือ http://tipmse.fti.or.th
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS