เก่งจริงไทยกวาด 10 รางวัลเวทีโลกโครงงานวิทย์ฯ “ISEF2022” จากสหรัฐอเมริกา

เยาวชนไทยคว้า 10 รางวัล โครงงานวิทย์ฯ ระดับโลกกวาดเงิน รางวัลรวม 66,000 เหรียญสหรัฐ ตอกย้ำความสำเร็จการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกระทรวง อว.

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. รศ. ดร.บุญโชติ เผ่าสวัสดิ์ยรรยง อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นางสาวอารยา ภู่พานิช รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยตัวแทนนักวิทยาศาสตร์และเยาวชนไทย ร่วมแถลงข่าว “ความสำเร็จนักวิทยาศาสตร์ทีมเยาวชนประเทศไทย กวาด 10 รางวัลโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ” Regeneron International Science and Engineering Fair (Regeneron ISEF) 2022 ซึ่งเยาวชนไทยกวาดรางวัลระดับโลกมาถึง 10 รางวัล มูลค่ารวม 66,000 เหรียญสหรัฐ จากการแข่งขันในรายการ Regeneron ISEF 2022 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ เมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา โดยปีนี้มีโครงงานเข้าร่วมประกวด 1,410 ผลงานจากนักเรียน 1,750 คน จาก 63 ประเทศและมลรัฐต่างๆ ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ณ อาาคารโยธี สวทช.

โดยทีมเยาวชนไทยคว้ารางวัลใหญ่ คือ Grand Awards อันดับ 1 สาขาเวชศาสตร์ปริวรรต (Translational Medical Science) จากโครงงาน “เครื่องมือช่วยวินิจฉัยความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีจากการตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับจากภาพถ่ายอุจาระและการวิเคราะห์ข้อมูลแบบประเมินความเสี่ยงด้วยเทคโนโลยี AI” (BiDEx - A Bile Duct Cancer Analyzing Tool) จากทีม BiDEx จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ผู้พัฒนา นางสาวนภัสสร หลิด ชิววงศ์ นายกฤษ ฐิติจำเริญพร และนายวัฒนพงษ์ อุทธโยธา โดยมี นายกัมพล กันทะแก้ว และ นางรุ่งกานต์ วังบุญ อาจารย์ที่ปรึกษา อีกทั้งยังได้รับรางวัลสำคัญอีก 1 รางวัลที่ยกย่องให้กับโครงงานสร้างสรรค์ที่มีผลกระทบสูงในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไป รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 1.7 ล้านบาท (The Gordon E. Moore Award for Positive Outcomes for Future Generations of $50,000) โดยผลงานดังกล่าวเป็นผลงานที่เคยได้รับรางวัลจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศจากค่ายเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ครั้งที่ 17 ประจำปี 2564”

นอกจากนี้ยังมีรางวัล Grand Awards อันดับที่ 1 อีกหนึ่งผลงาน ใน สาขาชีววิทยาเชิงคำนวณและชีวสารสนเทศศาสตร์ (Computational Biology and Bioinformatics) ได้แก่ โครงงาน “การทำนายความไวต่อยาด้วยเทคนิคผสมผสาน Graph Attention Networks เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาโรคมะเร็งด้วยการแพทย์แบบแม่นยำ โดยใช้โครงสร้างโมเลกุลยาร่วมกับข้อมูลทางเภสัชพันธุศาสตร์” ผู้พัฒนาได้แก่ นายภาวิต แก้วนุรัชดาสร นายณัฐวินทร์ แย้มประเสริฐ นายวุฒิพงศ์ จงเจริญสันติ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ซึ่งมี ดร.สาโรจน์ บุญเส็ง จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และนายบัณฑิต บุญยฤทธิ์ จากสถาบันวิทยสิริเมธี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ยังมีทีมเยาวชนไทยคว้ารางวัล Grand Awards อันดับต่างๆ อีก 5 รางวัล ประกอบด้วย อันดับที่ 2 สาขาวิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อม (Earth and Environmental Sciences) จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ โครงงานการพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล ผู้พัฒนาได้แก่ นายจิรพนธ์ เส็งหนองเเบน และนายฐิติพงศ์ หลานเดช จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี โดยมีนายขุนทอง คล้ายทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

อันดับที่ 3 สาขาสัตวศาสตร์ (Animal Sciences) จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ โครงงานการเพิ่มศักยภาพในการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยแสงสีเพื่อลดอัตราการตายจากพฤติกรรมการสลัดขาทิ้ง ผู้พัฒนาได้แก่ นางสาวจรัสณัฐ วงษ์กำปั่น และนางสาวมาริสา อรรจนานนท์ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี โดยมีนายขุนทอง คล้ายทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

อันดับที่ 4 จำนวน 3 รางวัล ได้แก่

1. โครงงานการพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม (Sawasdee-AMP) สาขาชีวการแพทย์และสุขภาพ (Biomedical and Health Sciences) ผู้พัฒนาได้แก่ นายกุลพัชร ชนานำ นางสาวปกิตตา เกรียงเกษม และนายคุณัชญ์ คงทอง จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม โดยมี ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ ดร.วันเสด็จ เจริญรัมย์ นักวิจัยไบโอเทค สวทช. เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

2. โครงงานการแกว่งของลูกตุ้มที่มีกระแสลมรบกวน สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ (Physics and Astronomy) ผู้พัฒนาได้แก่ นายวิชยุตม์ นาคะศูนย์ จากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช โดยมี นางซัลวาณีย์ เจ๊ะมะหมัด จากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ และ รศ. ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

และ 3. โครงงานการพัฒนาเข็มระดับไมโครเพื่อการตรวจวัดแบบ non-invasive ของสารครีเอตินินในของเหลวระหว่างเซลล์สู่นวัตกรรมการประเมินโรคไตแบบพกพา” สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering) ผู้พัฒนาได้แก่ นายพีรทัตต์ ลาภณรงค์ชัย และ นายธนพัฒน์ รีชีวะ จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม โดยมี ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ ดร.ธิติกร บุญคุ้ม นักวิจัยนาโนเทค สวทช. เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

นอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษ (Special Award) 2 รางวัลประกอบด้วย โครงงานการพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม (Sawasdee-AMP) ผู้พัฒนาได้แก่ นายกุลพัชร ชนานำ นางสาวปกิตตา เกรียงเกษม และนายคุณัชญ์ คงทอง โดยมี ดุร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม และ ดร.วันเสด็จ เจริญรัมย์ จากไบโอเทค สวทช. เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โครงงานดังกล่าวได้รับรางวัลที่ 1 สาขาการพัฒนาสุขภาพระดับโลก จาก USAID หรือ องค์การพัฒนาเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

และ โครงงานการพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล” ได้รางวัลจาก Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society สมาคมการวิจัยวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ผู้พัฒนาได้แก่ นายจิรพนธ์ เส็งหนองเเบน และนายฐิติพงศ์ หลานเดช จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี โดยมีนายขุนทอง คล้ายทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ โดยเป็นผลงานการวิจัยที่มีการบูรณาการวิทยาการจากหลากหลายสาขายอดเยี่ยม


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment