พฤกษาฟอร์มดีโค้งแรกปิดงบกำไรโต 10% เร่งสร้างซินเนอร์จี 2 ธุรกิจใหญ่

“พฤกษา” โชว์ไตรมาสแรกปี 2565 กำไรสุทธิเติบโต 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งสร้าง Synergy ระหว่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเฮลท์แคร์ พร้อมเพิ่มพอร์ตการลงทุนอื่น ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ร ไตรมาส 2 เดินหน้าเปิดโครงการใหม่ตามแผนพัฒนาธุรกิจอีก 9 โครงการรวมมูลค่า 5,900 ล้านบาท

นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 บริษัททำยอดขายโครงการอสังหาริมทรัพย์รวม 5,344 ล้านบาท รายได้รวม 5,679 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 639 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10% ในขณะที่กำไรสุทธิของพฤกษา โฮลดิ้ง (รวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเฮลแคร์) อยู่ที่ 552 ล้านบาท และมียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) ที่ 20,200 ล้านบาท เป็นยอดรับรู้รายได้ในปี 2565 ที่ 18,700 ล้านบาท และจะมีโครงการแนวสูงที่สร้างเสร็จพร้อมทยอยโอนในปีนี้อีก 7 โครงการรวมมูลค่า 15,200 ล้านบาท

ซึ่งกลยุทธ์ในปีนี้ พฤกษามุ่งผสานความร่วมมือระหว่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเฮลแคร์ โดยมีแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบ Mixed Use ที่จะผสานบริการด้านสุขภาพไว้ในโครงการเดียวกัน รวมถึงมองหาพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อเข้ามาเติมเต็มบริการตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างดีที่สุด ในด้านการลงทุนพฤกษาได้มีการเพิ่มพอร์ตลงทุนที่หลากหลาย นอกจากการลงทุนในไทยที่ผสานความร่วมมือระหว่างธุรกิจเรียลเอสเตท และโรงพยาบาล ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการศูนย์สุขภาพแห่งแรกในชุมชนพฤกษา ขนาด 50 เตียง ตั้งอยู่ด้านหน้าโครงการพฤกษา อเวนิว บางนา-วงแหวน ในเดือนสิงหาคมนี้ ขณะเดียวกันได้มีการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ โดยโรงพยาบาลวิมุตร่วมกับ JAS ASSET ก่อตั้งบริษัท Senera Vimut Health Service ทำโครงการ SENERA Senior Wellness บริเวณถนนคู้บอน เป็นศูนย์เมดิคอล ขนาด 5,713 ตร.ม. 4 ชั้น ขนาด 78 เตียง มีแผนเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมนี้ นอกจากนี้ยังได้มีการลงทุนทั้งในไทย ออสเตรเลีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยเป็นกลุ่มธุรกิจประเภทนวัตกรรมด้านการพัฒนาความยั่งยืน (ESG Innovation) ระบบความปลอดภัยในโลกดิจิตอล (Digital Securities) และ เฮลท์เทค พร๊อพเทค ที่รองรับกระแสเทรนด์ที่อยู่อาศัยและการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกันพฤกษาเองก็มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็วและช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น การนำ Value Engineering หรือ วิศวกรรมคุณค่ามาใช้ ด้วยการนำวัสดุทดแทนที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับวัสดุเดิมมาใช้ เป็นการช่วยลดการใช้ซีเมนต์ที่ไม่จำเป็นไปได้มากกว่า 15,000 ตัน นอกจากนั้นยังมีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ระบบจัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาระบบ Streamline ช่วยลดชั่วโมงการทำงานไปได้ มากกว่า 10,400 ชั่วโมง และสุดท้ายใช้การบริหารจัดการต้นทุน (Cost Management) เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้มากกว่า 460 ล้านบาท หรือ 1.4% ของรายได้

สำหรับแผนงานในไตรมาส 2 นายอุเทน กล่าวว่า พฤกษามีแผนเปิดโครงการใหม่ในไตรมาส 2 อีก 9 โครงการ รวมมูลค่า 5,900 ล้านบาท แบ่งเป็นทาวน์เฮาส์ 8 โครงการและบ้านเดี่ยว 1 โครงการ ซึ่งการออกแบบโครงการจะอิงจากแนวคิด Tomorrow. Reimagined. ที่ได้ต่อยอดสู่ “พฤกษา ลิฟวิ่ง โซลูชั่น” ตอกย้ำแนวทางการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพที่อยู่อาศัยตอบโจทย์เทรนด์การอยู่อาศัยใน 3 แกนหลัก ประกอบด้วย เทรนด์สุขภาพ (Health & Wellness) เทรนด์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป (Lifestyle Disruption) และเทรนด์เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Development) ซึ่งเป็นตัวสะท้อนถึงความใส่ใจของพฤกษาในทุกมิติทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยยังคงรุกตลาดอย่างต่อเนื่องด้วยการพัฒนาบ้านและโครงการมาตรฐานใหม่พร้อมกับใช้เครื่องมือการตลาดดิจิทัลและช่องทางออนไลน์ครบวงจร สื่อสารตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

และหนึ่งในแกนที่พฤกษาให้ความสำคัญ คือ การออกแบบบ้าน “ใส่ใจเพื่อสุขภาพ” ( Healthy Home) ซึ่งทางพฤกษาได้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลวิมุต เข้ามาร่วมให้คำปรึกษา แนะนำ ในการออกบ้านในแต่ละโครงการ เพื่อให้การออกแบบบ้านนั้นตอบโจทย์ด้านการอยู่อาศัยเพื่อสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะการออกแบบที่อยู่อาศัยแบบ Universal Design ที่รองรับคนทุกเจนเนอเรชั่นที่อยู่ร่วมกันในบ้าน เช่น การดีไซน์ประตูขนาดใหญ่เผื่อพื้นที่ไว้รองรับการเข้าออกด้วยรถเข็น บันไดลูกนอนขนาดกว้างขึ้น ช่วยให้ขึ้น-ลงได้สะดวก พื้นภายในดีไซน์เป็นทางเรียบ (Non Step Floor) หมดห่วงเรื่องเดินสะดุดและการใช้วัสดุพื้นลดแรงกระแทก (Absorbtion Floor) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับเดียวกับญี่ปุ่น ยังช่วยป้องกันอุบัติเหตุ หรือลดการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กและผู้สูงวัย รวมทั้งการเลือกใช้โถสุขภัณฑ์ชั้นนำแบบ Senior Ergonomic Design ที่ออกแบบรองรับสรีระผู้สูงอายุ ยังมีการออกแบบพื้นที่เพื่อส่งเสริมสุขภาพเป็นสวนหินบำบัด (River Healing Stone) ที่คัดสรรหินแต่ละก้อนอย่างพิถีพิถันและจัดวางให้เหมาะสำหรับการเดินนวดฝ่าเท้า เป็นต้น

ในฝั่งธุรกิจด้านสุขภาพ โรงพยาบาลวิมุตซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางระดับตติยภูมิ ที่มุ่งให้บริการแบบ New Normal Ecosystem โดยมุ่งเน้นการรักษาแบบบูรณาการองค์รวม ผ่านศูนย์สุขภาพและโมเดลสุขภาพด้วยระบบดิจิทัล เปิดดำเนินงานครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม ปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โรงพยาบาลได้สร้างการรับรู้ในแบรนด์และส่งมอบบริการด้านสุขภาพ คุณภาพมาตรฐาน ในราคาที่เข้าถึงได้ โดยใช้กลยุทธ์เร่งสร้างการเติบโต (Accelerated Growth Strategy) ทำให้ชื่อโรงพยาบาลวิมุตเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและรวดเร็วในกลุ่มลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างประเทศจากการให้บริการเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่งผลให้ในไตรมาส 1 ธุรกิจโรงพยาบาลวิมุตมีรายได้ 244 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% จากไตรมาส 4 ปี 2564 และจากการปรับโครงสร้างการบริหารองค์กรและการบริหารจัดการใหม่ของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ทำให้ธุรกิจด้านสุขภาพได้ส่วนแบ่งกำไรจากผลประกอบการโรงพยาบาลเทพธารินทร์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แผนธุรกิจในไตรมาส 2 คาดว่ารายได้หลักจะมาจากการดำเนินงานเต็มรูปแบบของบริการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลและบริการศูนย์ฟื้นฟูดูแลสุขภาพครอบครัวและผู้สูงอายุ (ViMut Wellness Services) ซึ่งจะพัฒนาไปพร้อมกับโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ของพฤกษาอย่างต่อเนื่องด้วย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment