MPI ช่วง Q1/65 โต1.41% คาดศก.ภาคอุตฯ มีแนวโน้มสดใส

กระทรวงอุตฯเผย ดัชนี MPI มี.ค. 2565 ปรับตัวลงเล็กน้อยที่ ส่งผลให้ MPI ไตรมาสแรกปี 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.41% คาดเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการส่งออกรวมเดือนมีนาคมขยายตัวร้อยละ 19.54

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 109.32 ปรับตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 7.49 ส่งผลให้ MPI ไตรมาสแรกปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 1.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากสัญญาณการส่งออกรวมเดือนมีนาคมขยายตัวร้อยละ 19.54 สูงสุดในรอบ 30 ปี และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) เดือนมีนาคมขยายตัวร้อยละ 7.26 ซึ่งมีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 20,705 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบกับการนำเข้าสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) เดือนมีนาคมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.66 และ 11.52 ตามลำดับ เพื่อจัดเตรียมการผลิตต่อไป

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่าการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ รวมถึงนโยบายการเปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ทำให้อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ในขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบของรัสเซียและยูเครนได้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าขนส่ง ด้านภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หมวดสินค้าอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมขยายตัวที่ร้อยละ 10.4 เร่งตัวขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวที่ร้อยละ 8.0

ขณะเดียวกันสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย สศอ. ได้ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) ในการคำนวณ สะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวใน 1-2 เดือนข้างหน้า อุปสงค์ในประเทศและการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทยอยฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ยังต้องจับตาดูสถานการณ์ของรัสเซียและยูเครน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและเป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment