สมอ. ตกลง เอแพค ตรวจสอบก๊าซเรือนกระจก และการจดทะเบียนบุคลากร สร้างการยอมรับจากทั่วโลก

สมอ. บรรลุข้อตกลงกับองค์การภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงาน (APAC) ขยายขอบข่ายการรับรองสาขาหน่วยตรวจสอบก๊าซเรือนกระจก และการจดทะเบียนบุคลากร เป็นผลให้หน่วยรับรองของไทยที่ได้รับการรับรองจาก สมอ. เป็นที่ยอมรับจากประเทศสมาชิกเอแพคกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนประเทศไทยได้บรรลุข้อตกลงกับเอแพค หรือองค์การภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงาน (Asia Pacific Accreditation Cooperation – APAC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ทำความตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangement: MRA) กับหน่วยรับรองระบบงานของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยได้ลงนามข้อตกลงการยอมรับร่วมเพิ่มอีก 2 สาขา ได้แก่ สาขาการรับรองระบบงานหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Validation /Verification Bodies) และสาขาการตรวจสอบและรับรองหน่วยรับรองบุคลากร (Person Certification Bodies) ทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการลงนามดังกล่าว คือ ใบรับรองระบบงานที่ออกโดย สมอ. เป็นที่ยอมรับจากประเทศสมาชิกเอแพคกว่า 30 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อินเดีย บังคลาเทศ ญี่ปุ่น เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน และเขตปกครองพิเศษ ฮ่องกง เป็นต้น และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการไทยโดยไม่ต้องตรวจสอบซ้ำ เมื่อค้าขายกับประเทศปลายทาง

“การที่ประเทศไทยได้รับการรับรองในสาขาหน่วยตรวจสอบก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรีได้ให้คำสัญญาร่วมกับผู้นำประเทศอื่นๆ ในการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ UN Climate Change Conference of the Parties (COP 26) ที่มีเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเป้าหมายสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608” นายสุริยะฯ กล่าว

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับสาขาการตรวจสอบและรับรองหน่วยรับรองบุคลากร เป็นการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพ ซึ่งแรงงานวิชาชีพที่ผ่านการรับรอง สามารถไปทำงานในกลุ่มประเทศสมาชิก เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ฯลฯ ได้โดยไม่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติซ้ำอีก เช่น สาขาวิชาชีพเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ สาขาวิชาชีพการท่องเที่ยว การโรงแรม สาขาวิชาชีพผลิตภัณฑ์ยางพารา สาขาวิชาชีพธุรกิจเสริมสวย สาขาวิชาชีพมาตรวิทยา และสาขาวิชาชีพธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ปัจจุบันได้มีการรับรองสมรรถนะบุคคลไปแล้ว 1,447 คน จาก 160 หน่วยงาน และพัฒนาองค์กรที่ทำหน้าที่รับรองสมรรถนะบุคคลให้ได้มาตรฐาน ISO/IEC 17024 แล้ว รวม 28 หน่วยงาน”


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment