{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
“ลองคิดดูสิว่าจะดีแค่ไหน หากเราสามารถลดการใช้รถบนท้องถนนในเมืองใหญ่ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วนำพื้นที่ที่เหลือบนท้องถนนเป็นเลนสำหรับจักรยาน มีพื้นที่ทางเดินเท้าที่มากขึ้น มีพื้นที่ปลูกต้นไม้มากขึ้น” นั่นคือภาพฝันและคำพูดของ ปีเตอร์ คาลธอร์ป บิดาแห่ง TOD (Transit Oriented Development) ได้กล่าวเอาไว้ในรายการ TED Talk ปี 2017
TOD คือแนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่ามีประสิทธิภาพในการพัฒนาเมือง โดยยึดสถานีขนส่งมวลชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดระบบหนึ่งของโลกตั้งแต่ช่วงปี 1990 เป็นต้นมา ซึ่ง คาลธอร์ป ได้สรุปหลัก 7 ประการในการพัฒนาตามแนวทาง TOD ซึ่งจะช่วยทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ TOD มากขึ้นไว้ดังนี้
1. Preserve การอนุรักษ์ ใจความสำคัญของการพัฒนาตามแนวทาง TOD อันดับแรกที่สำคัญที่สุดคือ การอนุรักษ์ สิ่งเดิมให้คงอยู่ ทั้งด้านสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม วิถีชีวิต ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพราะคงไม่มีใครอยากเห็นสิ่งดีงามที่คุ้นเคยต้องสูญหายไป การพัฒนาพื้นที่ที่ดีคือการสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิมโดยไม่ทำลายรากฐาน เอกลักษณ์ และความเป็นตัวตนของพื้นที่นั้น เช่น สถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นสถานที่ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน การพัฒนาตามรูปแบบ TOD ก็จะเป็นการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ ทำให้สถานีรถไฟหัวลำโพงยังคงเป็นสถานีที่คนไทยคุ้นเคย แต่ได้รับการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบสถานีให้สวยงามและเกิดประโยชน์ต่อทุกคนทุกฝ่ายมากขึ้น
2. Mix การผสมผสาน การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน จะเป็นไปในรูปแบบของการผสมผสานการใช้งานพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ระหว่างพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่เชิงพาณิชย์ การออกแบบอาคารตามแนวทางของ TOD จึงเน้นการสร้างอาคารที่เป็นได้ทั้งที่อยู่อาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารหลังเดียว นอกจากในแง่ความคุ้มค่าของการใช้พื้นที่อย่างผสมผสานแล้ว ยังช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตในเมือง ลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง และทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้อย่างสะดวกสบายและเท่าเทียม
3. Walk โครงข่ายทางเดินเท้า การสร้างโครงข่ายทางเดินเท้าเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญ ที่ช่วยดึงดูดผู้คนให้เดินทางมาใช้ระบบขนส่งมวลชน แต่การสร้างโครงข่ายทางเดินเท้าที่ดี ไม่เพียงแต่ต้องมีทางเดินที่กว้างขวาง ปลอดภัย แต่ต้องมีร้านค้าสิ่งอำนวยความสะดวก และสวนสาธารณะ ตลอดเส้นทางตั้งแต่อยู่อาศัยไปจนถึงที่ทำงาน ให้รู้สึกถึงความเป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น
4. Bike เส้นทางจักรยาน การสร้างเส้นทางสำหรับจักรยานโดยเฉพาะช่วยดึงดูดให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานในการเดินทางในเมืองในระยะทางไม่เกิน 5 กม.ส่งผลให้มีการใช้รถยนต์น้อยลง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และส่งเสริมให้คนเมืองออกกำลังกายไปด้วยในตัว ทำไมเราต้องเสียเวลาไปเข้าฟิตเนสในเมื่อเราสามารถใช้เส้นทางระหว่างบ้านและที่ทำงานเป็นเส้นทางออกกำลังกายด้วยสองขาของเราเองได้
5. Connect เชื่อมต่อทุกพื้นที่ในเมืองเข้าด้วยกัน เชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ ด้วยการสร้างเส้นทางคมนาคมที่หลากหลาย โครงข่ายทางเดินเท้า, เส้นทางจักรยาน, รถโดยสารประจำทาง, เรือ, เส้นทางรถไฟ และรถไฟฟ้าระบบราง เส้นทางสัญจรที่มีความหลากหลายจะช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ในเมืองได้อย่างสะดวกสบายไร้รอยต่อ
6. Ride สร้างระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อการรองรับความต้องการด้านการเดินทางของคนเมืองได้อย่างเพียงพอ การสร้างเส้นทางด้วยรถไฟฟ้าระบบรางคือระบบขนส่งมวลชนที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด และคุ้มค่ากับการลงทุนระยะยาว เพราะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็นจำนวนมาก ตรงต่อเวลา ช่วยให้ประชาชนสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อมต่อไปสู่การเดินทางรูปแบบอื่นได้จากสถานีขนส่งมวลชนโดยตรง
7. Focus เฝ้าดูการเติบโตของเมืองและปรับเปลี่ยนอย่างเหมาะสม หลังจากพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนตามแนวทางของ TOD สำเร็จแล้ว เราควรโฟกัสหรือจับตาดูแนวทางการเติบโตของเมืองอยู่เสมอ เพราะชุมชนเมืองทั่วโลกมีการเติบโตอยู่ตลอดเวลา แม้ TOD จะออกแบบเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองเอาไว้ระดับหนึ่งแล้วก็ตาม
คาลธอร์ป ได้ประมาณการณ์การเติบโตของเมืองต่างๆ ทั่วโลกเอาไว้ว่า ประชากรโลกกว่า 2.5 พันล้านคนจะอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในเขตเมืองภายในปี พ.ศ. 2595 นั่นหมายความว่า วิถีชีวิตของผู้คน ราว 1 ใน 3 ของโลกใบนี้จะเข้ามาใช้ชีวิตเป็นคนเมืองในอีก 30 ปีข้างหน้า จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายนักพัฒนาเมือง ในการออกแบบตามแนวทาง TOD ให้มีระบบขนส่งมวลชนที่เข้าถึงทุกพื้นที่เพื่อรองรับความต้องการของประชากรที่มากขึ้น และในขณะเดียวกันเมืองนั้นก็ยังคงไว้ซึ่งธรรมชาติที่สวยงาม รวมทั้งรักษาเอกลักษณ์ของเมืองไว้อย่างครบถ้วน
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS