เกษตรกรวอนรัฐเลิกตรึงราคา

เกษตรกรท้อ ขอรัฐเลิกตรึงราคา ปล่อยตามกลไก ให้คนเลี้ยงมีแรงสู้ต่อ ก่อนล้มทั้งกระดาน

นายเกียรติ์ ศุภมาศ นักวิชาการ ด้านเกษตรปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ภาคปศุสัตว์ในประเทศไทยกำลังประสบปัญหาใหญ่ จากภาวะต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังจากที่ต้องแบกรับภาระนี้มาตลอดตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ที่ราคาธัญพืชทุกตัวปรับราคาต่อเนื่องมาตลอด จนถึงปัจจุบันมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นถึง 25-30% วันนี้สถานการณ์ย่ำแย่ลงจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศ ทำให้ราคาสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

โดยราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น มาจากปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ ปัจจัยภายนอก จากสถานการณ์ราคาวัตถุดิบในตลาดโลก รวมถึงค่าบริหารจัดการและการขนส่ง โดยเฉพาะเมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ปะทุขึ้น สองประเทศยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชป้อนตลาดโลกทำสงครามกัน การส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์ต้องหยุดชะงักไป เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์และทำให้มีราคาสูงขึ้น

ส่วนปัจจัยภายใน เกิดจากนโยบายภาครัฐที่ขัดขวางการจัดหาซัพพลายวัตถุดิบป้อนภาคผู้ผลิตและผู้เลี้ยง อาทิ มาตรการ 3:1 ที่กำหนดให้ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ 3 ส่วนก่อน จึงจะนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนได้ และยังจำกัดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงภาระต้นทุนจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบกากถั่วเหลืองในอัตรา 2%

การที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ พิจารณาการเปิดเสรีนำเข้าสาลี กากถั่วเหลือง ข้าวโพด ยกเลิกมาตรการ 3:1 ยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง และให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO AFTA ตลอดจนยกเลิกโควต้า ภาษีและค่าธรรมเนียม ในปริมาณที่ขาดแคลนในปี 2565 เพื่อแก้ไขเรื่องวัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลน ที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้านี้ จึงพอทำให้เกษตรกรได้ใจชื้นกันขึ้นมาบ้าง

ทั้งนี้ตั้งแต่เกิดวิกฤติยูเครนขึ้น ก็ผลักดันให้ราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นไปเป็น 13.25 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว จากเมื่อปลายปี 2564 ราคาไม่ถึง 9 บาท และยังส่งผลต่อราคาพืชอาหารสัตว์ชนิดอื่นให้ขยับตามด้วย สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ไทย ราคา 13.05 บาทต่อกิโลกรัม เรียกว่าพุ่งทะยานสูงกว่าราคาตลาดโลกไปไกลและมีทีท่าขยับขึ้นต่อเนื่องอาจถึง 15 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากขาดแคลนสินค้าอย่างหนัก จากความต้องการใช้ข้าวโพดที่ 7.98 ล้านตัน แต่ตอนนี้มีผลผลิตที่ต้องการใช้อีกกว่า 3.18 ล้านตัน แต่ในประเทศหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยว ไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว ส่วนจะหวังพึ่งพากากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ราคาก็มหาโหดถึงกิโลกรัมละ 22.50 บาท และสำหรับวัตถุดิบทางเลือกทดแทนอื่นๆ ก็ต้องได้คุณภาพที่ดี มีคุณค่าอาหารเทียบเท่าและเป็นที่ยอมรับด้วยจึงจะนำใช้ได้

ภาระหนักอึ้งที่ต้องแบกรับยิ่งถูกซ้ำเติม เพราะอาหารสัตว์และเนื้อสัตว์ถูกจัดให้เป็นสินค้าควบคุมตามมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ ไม่สามารถปรับราคาให้สะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้

หากอาหารสัตว์ยังปรับราคาตามต้นทุนไม่ได้ และยังมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาเช่นนี้ อาจกดดันให้โรงงานอาหารสัตว์ต้องหยุดการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดทุน แน่นอนว่าอาหารสัตว์ต้องขาดแคลน กระทบกับภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงทั้งหมดแน่

วันนี้ภาคผู้เลี้ยงสัตว์ที่จำต้องขายสินค้าในราคาที่ถูกควบคุมไว้ก็กำลังหมดแรงไปต่อ และยังต้องเจอกับปัญหาต้นทุนเช่นนี้ ก็เริ่มจะถอดใจหยุดเลี้ยงกันไปบ้างแล้ว

ดังเช่นที่ นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉวีวรรณ คำพา ให้ข้อมูลว่า ต้นทุนอาหารสัตว์ขยับขึ้นมานานแล้วร่วม 2 ปี ซ้ำต้องมาเจอกับวิกฤตสงครามยูเครน ก็ยิ่งกระทบเป็นทวีคูณ วัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าขนส่ง ค่าพลังงาน ค่าน้ำมันปรับขึ้นรายวัน ในขณะที่เกษตรกรไก่เนื้อขายสินค้าเริ่มไม่คุ้มทุนกันมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาภาคปศุสัตว์ถือว่าเป็นเกษตรกรที่คุยง่าย กรมการค้าภายในขอความร่วมมือราคาอย่างไรก็ยอม แม้ถึงขนาดขายขาดทุนก็ยังเคยมีมาเสมอ จึงเป็นกลุ่มที่น่าเห็นใจที่สุดของเกษตรกรไทย โดยปัจจุบันสถาบันการเงินประเมินว่ากลุ่มปศุสัตว์ไทย ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงมาก การจะปล่อยสินเชื่อให้นั้นยากเต็มที วันนี้ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เช่นการลดกำแพงภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% เพื่อช่วยให้กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์สามารถดำเนินการต่อไปได้

สอดคล้องกับ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ มาโนช ชูทับทิม ที่ให้ความเห็นว่า ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพงขึ้นมา 30-40% ตั้งแต่ก่อนเกิดสงคราม และสงครามก็ผลักดันให้ราคาสูงขึ้นไปอีก แถมยังทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศปรับแพงตามไปด้วย ตอนนี้เกษตรกรทุกคนต้องปรับตัว พึ่งพาตัวเอง ระมัดระวังการเลี้ยงให้มากขึ้น พยายามลดต้นทุนในทุกทาง สำคัญที่สุดคือ รัฐไม่ควรควบคุมราคาไข่ไก่ ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด

ดังนั้นการเลิกตรึงราคา และปล่อยกลไกตลาดให้สามรถทำงานได้อย่างเสรี ถือเป็นการช่วยเหลืออย่างดียิ่งสำหรับเกษตรกร ที่แม้มีต้นทุนสูงให้ต้องแบกรับ แต่หากสามารถขายสินค้าที่สะท้อนต้นทุนได้ ก็คงพอมีแรงผลิตสินค้าต่อ ไม่พากันถอดใจเลิกอาชีพไปกันหมด เรื่องนี้รอไม่ได้ ภาครัฐต้องเร่งตัดสินใจ และดำเนินการแก้ปัญหาให้เร็วที่สุดก่อนจะสายและพังกันทั้งห่วงโซ่ อย่าปล่อยให้ภาคเกษตรต้องล้มทั้งกระดาน เพราะปัญหาจะตกหนักกับผู้บริโภคทั้งประเทศ


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment