{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
บ้านปู เพาเวอร์ หรือ BPP เผยปี 64 สามารถขยายกำลังผลิตที่มีคุณภาพ (Quality Megawatt) รวม 545 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้า 10 แห่ง และได้รับรางวัลหลายรางวัล สะท้อนการเติบโตอย่างยั่งยืน และการรดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2564 BPP มุ่งสร้างการเติบโตของธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter โดยได้ขยายกำลังผลิตจากการลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ๆ ที่เดินเครื่องจ่ายไฟแล้ว พร้อมสร้างรายได้ทันที และการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการโรงไฟฟ้าในพอร์ตธุรกิจตามแผนรวม 10 แห่ง รวม 545 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้า HELE จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ในจังหวัด ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น กำลังผลิต 73 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีผสมผสานในการแปลงสถานะถ่านหินให้กลายเป็นก๊าซเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า (Integrated Gasification Combined Cycle: IGCC) และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา 384 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines หรือ CCGT ที่อยู่ในตลาดที่มีการซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรี และตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์รวมเศรษฐกิจและประชากรที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
ผนวกกับการเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในพอร์ตโฟลิโออีก 8 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เบอริล (Beryl) และมานิลดรา (Manildra) ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย กำลังผลิตรวม 16.6 เมกะวัตต์ ซึ่งนับเป็นการสร้างรากฐานการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในออสเตรเลีย ตามมาด้วยการทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 แห่งในญี่ปุ่น ได้แก่ เคเซนนุมะ (Kesennuma) นิฮอนมัสซึ (Nihonmatsu) และชิราคาวะ (Shirakawa) กำลังผลิตรวม 21 เมกะวัตต์ ที่ล้วนมีโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าระยะยาวแบบ Feed-in Tariff (FiT) สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกลับสู่บริษัทฯ รวมไปถึงการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 3 แห่งในเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีปริมาณความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงและมีนโยบายสนับสนุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจนจากภาครัฐ ได้แก่ ฮาติ๋ญ (Ha Tinh) กำลังผลิต 25 เมกะวัตต์ ตามด้วย ชูง็อก (Chu Ngoc) และน็อนไห่ (Nhon Hai) กำลังผลิตรวม 25 เมกะวัตต์
ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social, and Governance: ESG) เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน ในปี 2564 ที่ผ่านมา BPP ยังได้รับรางวัลและการประเมินจากองค์กรชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศ ดังนี้
ได้รับรางวัลด้านความยั่งยืน Rising Star Sustainability Awards ในกลุ่มรางวัล Sustainability Excellence ประจำปี 2564 ในกลุ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) 30,000-100,000 ล้านบาท จากงาน SET Award 2021 จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและวารสารการเงินธนาคาร
ได้รับการคัดเลือกเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีรายชื่ออยู่ใน “หุ้นยั่งยืน” หรือ Thailand Sustainable Investment (THSI) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 168 บริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับดีเลิศ (Excellence CG Scoring) จากผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนประจำปี 2564 โดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย
ได้รับอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” จากทริสเรทติ้ง ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำในประเทศไทย
“ทั้งนี้ BPP จะยังคงพิจารณาโอกาสการลงทุนและต่อยอดมูลค่าทางธุรกิจจากระบบนิเวศทางธุรกิจภายในกลุ่มบ้านปูใน 7 ประเทศที่บริษัทมีฐานการผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนของการเติบโตสู่เป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ บริษัทฯ จะรายงานความคืบหน้าเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป” นายกิรณ กล่าวปิดท้าย
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS