การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 4 ปี 2021 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 4 ปี 2021 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

กฤชนนท์ จินดาวงศ์

ปราโมทย์ วัฒนานุสาร

อังคณา สิทธิการ

Krungthai COMPASS

ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 4 ปั 2021 ยังคงขยายตัวดีต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว โดยมีแรงหนุนจาก

1) การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย อีกทั้งเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของคู่ค้าคึกคักขึ้น

2) ค่าเงินบาทที่ยังอ่อนค่า

โดยมูลค่าส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไตรมาส 4 ปี 2021 ขยายตัว 19.3%YoY แบ่งเป็นหมวดสินค้าเกษตรขยายตัว 19.2% ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 โดยการส่งออกขยายตัวดีในทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดคิดเป็น 27% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมด ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ มันสำปะหลัง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ยางพารา และข้าว

ด้านหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ 19.4% โดยสินค้าส่งออกในกลุ่มสิ่งปรุงรส และอาหารสัตว์เลี้ยงยังขยายตัวดี เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจากอานิสงส์ต่อเนื่อง จากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้คนต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home) ส่งผลให้นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงและใส่ใจสัตว์เลี้ยงมากขึ้น รวมทั้งน้ำตาลทรายที่ได้รับผลดีจากราคาส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปยังคงหดตัว โดยเฉพาะทูน่ากระป๋องที่หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 เนื่องจากคู่ค้าต่างประเทศชะลอการกักตุนสินค้าในกลุ่มนี้

โดย Krungthai COMPASS ประเมินสถานการณ์การส่งออก สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในกลุ่มสินค้าสำคัญ ดังนี้

การส่งออกข้าวไตรมาส 4 ขยายตัวดี จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า แต่ภาพรวมทั้งปียังติดลบ 8.9%

มูลค่าการส่งออกข้าวไตรมาสที่ 4 ปี 2021 ขยายตัวเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ 13.2%YoY หลังติดลบมาอย่างต่อเนื่องหลายไตรมาส โดยมูลค่าการส่งออกข้าวขาวขยายตัว 71.8%YoY จากปัจจัยด้านปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวถึง 104.5%YoY เนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ราคาส่งออกข้าวขาวปรับลดมาอยู่ในระดับที่แข่งขันกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียได้มากขึ้น ส่วนมูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิขยายตัว 4.4%YoY แม้ว่าปริมาณการส่งออกจะขยายตัวที่ 28.3%YoY ซึ่งนอกจากผลจากค่าเงินบาทอ่อนค่าแล้ว ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการส่งออกและต้นทุนค่าระวางที่แพงขึ้น ส่วนใหญ่ผู้ซื้อเป็นคนรับภาระ จึงส่งผลให้คำสั่งซื้อมีปริมาณลดลง จึงกดดันให้ผู้ขายยอมกดราคาส่งออกข้าวหอมมะลิให้ลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ แม้ว่ามูลค่าการส่งออกข้าวใน 2 ไตรมาสสุดท้ายจะขยายตัว แต่ภาพรวมมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งปียังคงหดตัวที่ 8.9%YoY เนื่องจากในช่วงต้นปีการส่งออกข้าวเผชิญการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงและค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้แข่งขันได้ลำบาก

มูลค่าส่งออกยางพาราไตรมาส 4 ยังขยายตัวต่อเนื่อง

มูลค่าส่งออกยางพาราไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 ขยายตัว 31.4%YoY โดยมูลค่าส่งออกยางแผ่น และยางแท่งขยายตัวถึง 43.3%YoY ซึ่งขยายตัวจากปริมาณส่งออกที่ขยายตัวถึง 33.2% ตามความต้องการใช้ยางแผ่นและยางแท่งที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางยานยนต์ของจีน ส่วนราคาส่งออกยางแผ่นและยางแท่งยังขยายตัวแต่ก็ชะลอลง ขณะที่มูลค่าส่งออกน้ำยางข้นขยายตัวเพียง 4.8%YoY โดยขยายตัวจากปัจจัยด้านปริมาณที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.7%YoY แต่ราคาส่งออกหดตัว 6.6%YoY เพราะราคาเฉลี่ยถุงมือยางโลกที่ปรับตัวลดลงมาก เนื่องจากอุปทานถุงมือยางในตลาดโลกเริ่มล้น สะท้อนจากการส่งออกถุงมือยางของไทยหดตัวลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 และเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาน้ำยางข้นซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตลดลงตาม

มูลค่าส่งออกมันสำปะหลังไตรมาส 4 ขยายตัวดี

มูลค่าส่งออกมันสำปะหลังไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 ขยายตัว 42.9%YoY โดยเฉพาะมูลค่าส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดซึ่งพึ่งพาตลาดจีนเกือบทั้งหมด ขยายตัวถึง 106.9%YoY ทำให้ภาพรวมมูลค่าส่งออกมันสำปะหลังทั้งปีขยายตัว 46.7%YoY เนื่องจากสต็อกข้าวโพดจีนลดลง และทำให้อัตราส่วนความต้องการใช้ต่อสต็อกข้าวโพดจีนเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 เท่า สูงกว่าปี 2020 ซึ่งอยู่ที่ 1.3 เท่า รวมทั้งคาดว่าในปี 2022-2023 สต็อกข้าวโพดจีนจะอยู่ที่ 207 ล้านตัน และ 196 ล้านตัน ตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าหรือเท่ากับค่าเฉลี่ยสต็อกข้าวโพดจีน 6 ปีย้อนหลังซึ่งอยู่ที่ 207 ล้านตัน ทำให้ในปี 2022-2023 ส่วนต่างราคาข้าวโพดในจีนเทียบกับราคาส่งออกมันเส้นจะอยู่ที่เฉลี่ย 150-200 USD/ตัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงใกล้เคียงกับปี 2021 ส่งผลดีต่อปริมาณส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดของไทย


การส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ในไตรมาส 4 ยังเติบโตต่อเนื่องจากความต้องการของตลาดจีน

ภาพรวมการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งในไตรมาส 4 ของปี 2021 ยังเติบโต 33.9%YoY แม้จะเป็นช่วงนอกฤดูกาล ทั้งนี้ จากความต้องการของตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักที่เพิ่มขึ้นชัดเจน โดยขยายตัวถึง 45.4%YoY โดยเฉพาะสินค้าทุเรียนที่เติบโตกว่า 99.7%YoY ทำให้ภาพรวมมูลค่าส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งทั้งปีขยายตัว 48.9%YoY โดยชาวจีนยังนิยมผลไม้เมืองร้อนจากไทย และมีความต้องการบริโภคชดเชยที่ยังเดินทางท่องเที่ยวไม่ได้ ประกอบกับไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับจีนด้วย ทำให้ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้า อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้าการส่งออกไปจีนยังมีคู่แข่งมากขึ้น เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ กอปรกับยังต้องติดตามการเพิ่มความเข้มงวดด้านมาตรฐานการส่งออกผลไม้ที่ต้องมีการขึ้นทะเบียนสวนและโรงงานผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน GAP และ GMP รวมทั้งมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของศุลกากรจีนและสำนักงานตรวจสอบกักกันโรค (CIQ) อาทิ การเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการการตรวจสอบสินค้าและป้องกันเชื้อ โควิด-19


ทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญในปี 2022-2023

Krungthai COMPASS มองว่า ในปี 2022-2023 ทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรจะยังขยายตัวได้แต่ในอัตราที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งผลจากฐานสูง และปัจจัยท้าทายที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด อาทิ เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าในช่วงครึ่งปีหลัง และต้นทุนดำเนินงานที่สูงขึ้น

ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง

· ในปี 2022-2023 คาดว่ามูลค่าส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งอยู่ที่ 223,120 และ 261,051 ล้านบาท หรือขยายตัว 17.3%YoY และ 17.0%YoY ตามลำดับ โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยคิดเป็น 53% ประกอบกับไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับจีน ทำให้ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ประกอบกับคาดว่าในระยะข้างหน้าการส่งออกผักและผลไม้ของไทยไปจีนจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเดินรถไฟจีน-ลาว เนื่องจากเป็นการเพิ่มช่องทางการส่งออกผักและผลไม้จากไทยไปจีนมากขึ้น รวมทั้งสามารถลดต้นทุนการขนส่งและระยะเวลาการขนส่งเหลือเพียง 15 ชั่วโมง เร็วกว่าการขนส่งทางถนนที่ใช้เวลาถึง 2 วัน

· อย่างไรก็ดี การเพิ่มความเข้มงวดด้านมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของศุลกากรจีนและสำนักงานตรวจสอบกักกันโรค (CIQ) อาทิ การปฏิบัติตามมาตรการการตรวจสอบสินค้าและป้องกันเชื้อ โควิด-19 สำหรับโรงงานผลิตผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยของทางการจีน ทำให้ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุณภาพสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่คู่ค้ากำหนด ซึ่งจะมีความสำคัญมากขึ้น และอาจเป็นปัจจัยกดดันต่อสินค้าส่งออกของไทย โดยในช่วงแรกอาจทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวจะช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดส่งออก ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เนื่องจากสินค้าของไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ

มันสำปะหลัง

· ในปี 2022-2023 ปริมาณส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดของไทยจะอยู่ที่ 5.5 และ 5.7 ล้านตัน ตามลำดับ ขยายตัว 5% ต่อปี ขณะที่ปริมาณส่งออกแป้งมันสำปะหลังจะอยู่ที่ 5.1 และ 5.5 ล้านตัน ตามลำดับ ขยายตัว 6% ต่อปี เนื่องจากสต็อกข้าวโพดจีน (สินค้าทดแทน) มีทิศทางลดลง ส่งผลให้ผู้ผลิตจีนมีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยมากขึ้น

· อย่างไรก็ดี ในปี 2022-2023 ราคาเฉลี่ยมันเส้นในประเทศและราคาส่งออกจะลดลงอยู่ที่ 6.3-6.6 บาท/กก. และ 230-245 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ตามลำดับ ขณะที่ราคาเฉลี่ยแป้งมันในประเทศและราคาส่งออกในปี 2022-2023 จะลดลงมาอยู่ที่ 11.9-12.5 บาท/กก. และ 420-440 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ตามลำดับ เนื่องจากผลผลิตหัวมันสำปะหลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 33.0 ล้านตัน และ 33.0 ล้านตัน ตามลำดับ หลังราคาหัวมันสด ในปี 2021 จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก

Implication:

Krungthai COMPASS มองว่า แม้ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2022 จะขยายตัวได้ แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้

· เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักสินค้าเกษตรไทยมีแนวโน้มขยายตัวแผ่วลง จากปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และผลกระทบจากนโยบายการจัดการด้านพลังงาน อาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคจีน และส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

· แนวโน้มต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบสินค้าเกษตร บรรจุภัณฑ์ และค่าขนส่ง จะกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการส่งออกอาหารสำเร็จรูป เช่น เครื่องปรุงรส อาหารกระป๋อง เนื่องจากมีสัดส่วนต้นทุนจากวัตถุดิบสินค้าเกษตร บรรจุภัณฑ์ และค่าขนส่งรวมกัน 80-90% ของต้นทุนทั้งหมด

· มาตรการที่เข้มงวดด้านสุขอนามัยของจีน อาทิ การเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการการตรวจสอบสินค้าและป้องกันเชื้อ โควิด-19 ของทางการจีน ทำให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตผักและผลไม้สดแข่เย็นแช่แข็งจากไทยต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุณภาพสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่คู่ค้ากำหนด ซึ่งในช่วงแรกอาจทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวจะช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดส่งออก ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

· ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในปี 2022 อาจส่งผลกระทบกับราคาส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ต่ำ เช่น ข้าวสาร ยางพารา และมันสำปะหลัง ทำให้ผู้ส่งออกกลุ่มสินค้าดังกล่าวอาจได้รับ Margin ที่บางลง

· ปัญหาค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อต้นทุนการขนส่งของการส่งออกสินค้าเกษตรไทย โดยสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบมาก คือ ข้าวหอมมะลิ อาหารทะเล ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ยาง นอกจากนี้ ผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ทำให้คาดว่าความต้องการตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นมาก กดดันให้อัตราค่าระวางเรือจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วงปี 2022-2023

· นอกจากนั้นปัจจัยท้าทายใหม่ด้านมาตรการสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าอย่าง EU และสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์และอาหารสัตว์ต้องเร่งปรับตัว เนื่องจากเป็นสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเมื่อเทียบกับภาพรวมสินค้าเกษตรด้วยกัน และพึ่งพาการส่งออกสินค้าไป EU และสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูง

· อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งหากลุกลามจนทำให้รัสเซียโดนคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และ EU อาจเป็นโอกาสในการขยายตลาดของผู้ส่งออกอาหารไทย จากความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยการนำเข้าจากสหรัฐและ EU โดยสินค้าอาหารที่รัสเซียนำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ ได้แก่ ผลไม้กระป๋อง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องปรุงรส


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment