ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เร่งโตยั่งยืน อัดงบลงทุน 50,000 ล้าน ภายใน 5 ปี

ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เทงบลงทุน 50,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี เล็งพัฒนาและสร้างการเติบโตใหม่ ๆ ยครอบคลุมทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ พร้อมคาดการณ์รายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติแตะระดับ 21,000 ล้านบาทในปี 2569 หรือ 1.75 เท่าจากปี 2564

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทกำหนดทิศทางแผนธุรกิจประจำปี 2565 และอนาคต ด้วยเป้าหมายทรานส์ฟอร์มแกนหลักของธุรกิจสู่ดิจิทัล พร้อมเตรียมบลงทุน 50,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนภายใน 5 ปี นั้น ประกอบด้วย งบลงทุนสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ 18,000 ล้านบาท ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม 18,000 ล้านบาท ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน 10,000 ล้านบาท และอีก 4,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนในธุรกิจดิจิทั ธุรกิจสตาร์ทอัพและเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะและทรานสฟอร์มองค์กรสู่บริษัทเทคโนโลยีอย่างสมบูรณ์ พร้อมคาดการณ์รายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติแตะระดับ 21,000 ล้านบาทในปี 2569 หรือ 1.75 เท่าจากปี 2564 โดยที่ยังคงรักษาระดับอัตราผลกำไร EBITDA ที่แข็งแกร่งกว่าร้อยละ 40 และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (IBD) ของบริษัทต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมต่ำกว่า 1.2 เท่า

ทั้งนี้ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปได้ริเริ่มโครงการเทคโนโลยีดิจิทัลขึ้นมาถึง 33 โครงการในปี 2564 ครอบคลุมธุรกิจของบริษัทฯ ในทุกด้าน โดยมุ่งหวังที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาความมั่นคงและประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทฯ ทั้งนี้แนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (Smart Eco Industrial Estates) ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่มุ่งมั่นยกระดับการให้บริการผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัยเข้ามาประยุทต์ใช้ในทุกกิจกรรม ตั้งแต่การสื่อสาร ระบบขนส่ง การรักษาความปลอดภัย การควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการผลิตน้ำและการบำบัดน้ำเสีย โดยศูนย์ควบคุมส่วนกลาง (Unified Operation Center หรือ UOC) ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคาร WHA Tower ย่านบางนา อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ช่วยให้สามารถติดตามผลค่าตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมหลายๆ อย่างในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอในแบบเรียลไทม์ อาทิ การตรวจสอบคุณภาพอากาศและน้ำเสีย ระดับน้ำ การจราจร และความปลอดภัย

โดยก้าวต่อไปของการทรานสฟอร์มสู่ดิจิทัลของดับบลิวเอชเอคือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ จากผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ และการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนโรดแมปของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่ตั้งเป้าหมายจะก้าวเป็นบริษัทเทคโนโลยีให้ได้ภายในปี 2567

สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ ในประเทศไทย ดับบลิวเอชเอ ตั้งเป้าที่จะขยายพื้นที่ให้บริการให้ครอบคลุมมากขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์ รวมทั้งตอบโจทย์ความต้องการใหม่ ๆ ในทำเลยุทธศาสตร์ใน 3 จังหวัดอีอีซี (อันได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) โดยจะขยายพอร์ทผลิตภัณฑ์ด้านโลจิสติกส์ให้ครอบคลุม ตั้งแต่อาคารคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit และคลังสินค้าแบบทั่วไป ไปจนถึงอาคารคลังสินค้าที่มีขนาดเล็กลง เพื่อรองรับความต้องการขององค์กรขนาดย่อมและธุรกิจ SME และตอบโจทย์เซ็กเมนท์ที่กำลังเติบโตกลุ่มนี้ ในส่วนต่างประเทศ บริษัทฯ จะให้ความสำคัญกับโอกาสต่าง ๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประโยชน์จากความต้องการอันแข็งแกร่งนี้ และใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถที่มีอยู่ของดับบลิวเอชเอในเวียดนาม

ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เดินหน้าขยาย Office Solution ของบริษัทฯ ประกอบด้วยอาคารสำนักงาน 6 แห่งในทำเลทอง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันและการออกแบบชั้นเยี่ยมในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ โดยมีกลุ่มผู้เช่าเป้าหมาย ตั้งแต่กลุ่มสตาร์ทอัพที่กำลังเริ่มก่อตั้งธุรกิจ ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ที่มั่นคงแล้ว โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าคว้าโครงการและสัญญาใหม่ ๆ ในปี 2565 ให้ได้ 180,500 ตารางเมตร และยังมีสัญญาเช่าระยะสั้นอีก 100,000 ตารางเมตร และคาดว่าจะมีทรัพย์สินภายใต้กรรมสิทธิ์และการบริหารรวมทั้งสิ้น 2,685,000 ตารางเมตร

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ (WHAID) พร้อมจะคว้าธุรกิจจากการฟื้นตัว จากจำนวนที่ดินที่มีอยู่ 12,100 ไร่ ซึ่งรวมที่ดินอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วพร้อมขายทั้งสิ้น 4,160 ไร่ ที่ตั้งอยู่บนทำเลยุทธศาสตร์ โดยคาดว่า WHAID จะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีน อันเป็นผลจากความตึงเครียดทางการค้า ค่าแรง หรือการขาดแคลนพลังงาน ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนลูกค้าชาวจีน ของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนกว่าร้อยละ 50 ของยอดขายที่ดินทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมองเห็นความต้องการที่ดินจากลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมมูลค่าสูงโดยเฉพาะในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) หรือกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และด้านการแพทย์

ในช่วง 5 ปีข้างหน้า WHAID มีแผนที่จะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 บริษัทฯ เตรียมขยายนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (เพิ่มอีก 580 ไร่) โดยได้เริ่มการก่อสร้างในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ที่ผ่านมา และรวมถึงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง เฟสแรก (1,100 ไร่) ที่เป็นโครงการร่วมทุนกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด ซึ่งกำหนดจะเริ่มพัฒนาในปลายปี 2565

นอกจากนี้ WHAID จะยังคงต่อยอดการนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มรายได้ประจำและลดการพึ่งพาการขายที่ดิน เช่น การจัดส่งก๊าซไนโตรเจน โดยบริษัท บีไอจี ดับบลิวเอชเอ อินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG WHA) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง WHAID กับ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด ซึ่งเปิดให้บริการแล้วที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) และจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมก๊าซชนิดอื่นๆ รวมถึงมีแผนการจะขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น WHAID จะใช้ประสบการณ์ที่มีของบริษัทฯ ในการพัฒนาทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ ศูนย์สร้างนวัตกรรมและบ่มเพาะสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่เปิดให้บริการใกล้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อก้าวไปสู่นิคมอุตสาหกรรมหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น บริษัทฯ ยังมีความตั้งใจที่จะสำรวจโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่สอดคล้องไปกับแนวโน้มด้านความยั่งยืนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

ในประเทศเวียดนาม WHAID จะต่อยอดความสำเร็จของโครงการเหงะอาน เพื่อขยายธุรกิจของบริษัทไปสู่ระดับประเทศ โดยเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน เฟส 1 พื้นที่ 900 ไร่ ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และการดูแลสิ่งแวดล้อมคุณภาพสูงสุด โดยมีนักลงทุนจากฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย จีน และเวียดนาม จากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่าพื้นที่แล้วกว่าครึ่งหนึ่ง และด้วยความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น บริษัทฯ มีแผนที่จะเร่งพัฒนาเฟสต่อๆไป ซึ่งรวมถึงเฟสที่ 2 (พื้นที่ 2,200 ไร่) ที่มีกำหนดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ รวมทั้งเฟส 1, 2 และส่วนต่อขยาย เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน จะมีพื้นที่โดยรวมทั้งสิ้น 11,550 ไร่

ในส่วนธุรกิจสาธารณูปโภค ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตีส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) นั้น ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHAUP กล่าวว่า จะใช้ความเชี่ยวชาญของ WHAUP เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม อาทิ Wastewater Reclamation และน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized water) ให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม ทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ อาทิ ผู้พัฒนาที่ดินอุตสาหกรรมรายอื่น เทศบาลเมือง และชุมชนต่างๆ นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจน้ำในแนวดิ่งให้เติบโตมากขึ้น โดยการสำรวจหาแหล่งน้ำดิบทางเลือกต่าง ๆ เพื่อความมั่นคงและลดต้นทุนในการซื้อน้ำดิบ และยังได้นำแพลตฟอร์ม “Smart Utilities Services” และ “Innovative Solution” มาให้บริการแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเออีกด้วย ส่วนในประเทศเวียดนาม ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ในบริษัทน้ำสองแห่ง WHAUP ยังมองหาโครงการใหม่ ๆ รวมถึงโอกาสในการลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพิ่มเติมอีกด้วย ปีนี้ คาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่ายและบริหารน้ำสูงถึง 128 ล้านลูกบาศก์เมตรในประเทศไทย และ 25 ล้านลูกบาศก์เมตรในเวียดนาม

สำหรับธุรกิจด้านพลังงาน WHAUP เตรียมพร้อมเดินหน้าพัฒนาโซลูชั่นพลังงานสะอาดและเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้น ทั้งจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปและโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ (Waste-to-energy) โดยตั้งเป้าหมายสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ลงนามแล้ว 150 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปี 2565 นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมนำเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer (P2P) และระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Microgrid มาใช้ในนิคมอุตสาหกรรม โดยคาดว่าในปี 2565 บริษัทฯ จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ตามสัดส่วนการถือหุ้นสูงถึง 700 เมกะวัตต์

ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม เสริมแกร่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ด้วยการเดินหน้าวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยปัจจุบันได้มีการติดตั้งโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (FTTx) เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม 9 แห่ง และมีแผนจะขยายเพิ่มเป็น 11 แห่งภายในปี 2565 ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ได้ขยายธุรกิจให้ครอบคลุมการบริหารจัดการเสาโทรคมนาคมใหม่ทั้งหมดภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ซึ่งจะรวมถึงการก่อสร้างเสาโทรคมนาคมและสถานีฐาน และการให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมาเช่าพื้นที่บนเสาโทรคมนาคมเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นในการรับและกระจายสัญญาณเครือข่ายทั้ง 3G, 4G และ 5G นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีกำไรพิเศษจาการจำหน่าย Data Center 2แห่ง ในขณะที่ธุรกิจศูนย์บริการระบบข้อมูลสารสนเทศ (Data Center) บริษัทฯ มีกำไรจากการจำหน่ายดาต้าเซ็นเตอร์ 2 แห่ง จากการปรับปรุงแผนธุรกิจดิจิทัลของบริษัทฯ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2565




COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment