{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
อุตสาหกรรมยาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องสำคัญของธุรกิจ Healthcare ที่มีความสำคัญและมีแนวโน้มเติบโต สะท้อนได้จากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมดของผู้บริโภค กว่า 30-40% เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับยา ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านยาที่มีสัดส่วนค่อนข้างสูงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่ปรับเพิ่มขึ้นตามความซับซ้อนของโรคและเทคโนโลยี ต้นทุนการผลิตยาที่สูงขึ้น ความต้องการยารักษาโรคที่เพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงในการเกิดโรคที่มีมากขึ้น รวมถึงความต้องการยาในการรักษาโควิด-19 ที่น่าจะยังคงมีอยู่
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ความต้องการยารักษาโรคชนิดอื่นอาจลดลง เนื่องจากผู้ป่วยบางส่วนอาจหลีกเลี่ยงการเดินทางไปโรงพยาบาล รวมถึงกลุ่มคนไข้ชาวต่างชาติ (Medical Tourism) เกือบทั้งหมดที่ไม่ได้เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในไทยตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 เป็นต้นมา เพราะการระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรง แต่ความต้องการยาในประเทศยังคงเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากมูลค่าการนำเข้ายาของไทยในปี 2564 ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 13.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการนำเข้ายาเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับทิศทางของตลาดยาในประเทศปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะมีสัญญาณที่ดีขึ้น (ภายใต้สมมติฐานที่ไม่มีการระบาดที่รุนแรงของสายพันธุ์ใหม่ หรือเกิดกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่) จนทำให้คาดว่าความต้องการยาเพื่อรักษาโควิด-19 อาจปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ในทางกลับกันจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ดีขึ้น อาจจะทำให้คนไข้ไทยกลุ่มเดิมที่รักษาโรคทั่วไป รวมถึงคนไข้ต่างชาติ (Medical tourism) บางกลุ่มทยอยกลับมาใช้บริการรักษาพยาบาลในไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภายหลังจากการที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged society) ในปีนี้ ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรค NCDs ในกลุ่มผู้สูงอายุอาจมีมากขึ้น และน่าจะหนุนให้ปริมาณความต้องการใช้ยาเพื่อรักษาโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการสุขภาพแบบครบวงจร น่าจะเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงยารักษาโรคได้อย่างปลอดภัยและทั่วถึงมากขึ้น
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าตลาดยาในปี 2565 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.33-2.38 แสนล้านบาท เติบโตที่ 3.0%-5.0% (YoY) เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ขยายตัว 2.5% (YoY) โดยแบ่งเป็นการจำหน่ายผ่านโรงพยาบาลรัฐ 60% ซึ่งครอบคลุมระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลักของประเทศ โรงพยาบาลเอกชน 25% และร้านขายยาอีก 15% โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การจำหน่ายผ่านช่องทางโรงพยาบาลรัฐน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่จะพึ่งพิงสวัสดิการรักษาพยาบาลของภาครัฐเป็นหลัก ขณะที่ร้านค้าขายยารายย่อยต้องเผชิญการแข่งขันจากการเติบโตของร้านขายยาแฟรนไชส์และการขยายจุดจำหน่ายยาของห้างค้าปลีก ทั้งนี้ เม็ดเงินค่าใช้จ่ายสำหรับยาต้นตำรับ (Original Drugs) ต่อยาชื่อสามัญ (Generic Drugs) มีสัดส่วนประมาณ 45:55 ของค่าใช้จ่ายยาในประเทศทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่า การเติบโตของตลาดยาในประเทศน่าจะเป็นโอกาสของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ายาจากต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากมูลค่าตลาดยากว่า 70% ของมูลค่าตลาดยาทั้งหมดเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ายาต้นตำรับจากแหล่งผลิตเจ้าของสิทธิบัตรอย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เพื่อใช้สำหรับการรักษาโรคสำคัญ อาทิ ยารักษาโรคมะเร็ง ยากลุ่มโรคเลือด ยากลุ่มระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งการใช้ส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่ผู้ป่วยที่มีกำลังซื้อ รวมไปถึงคนไข้ต่างชาติที่เดินทางเข้ามารักษาในไทย ส่วนการนำเข้ายาชื่อสามัญส่วนใหญ่มาจากอินเดียและจีนที่เจ้าของสิทธิบัตรได้มีการย้ายฐานการผลิตยาบางส่วนไปประเทศดังกล่าว ด้วยปัจจัยด้านต้นทุนแรงงาน ความพร้อมด้านเทคโนโลยี และบุคลากร อีกทั้งจีนและอินเดียยังมีกำลังการผลิตสารตั้งต้นในการผลิตยา (Active Pharmaceutical Ingredients: APIs) ถึง 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตรวม
ขณะที่การผลิตยาในประเทศเกือบทั้งหมดส่วนใหญ่เป็นยาชื่อสามัญ นำโดยองค์การเภสัชกรรม ผู้ผลิตยารายใหญ่ และบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย เป็นการผลิตยาชื่อสามัญและการรับผลิตยาสำเร็จรูป โดยนำเข้าสารตั้งต้นหรือส่วนประกอบของยาเข้ามาเพื่อการผลิตขั้นสุดท้าย ซึ่งผู้ผลิตยาชื่อสามัญในประเทศต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงกับยาชื่อสามัญที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีความได้เปรียบในเรื่องของปริมาณการผลิต และการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ส่งผลให้ภาพรวมของมูลค่าตลาดยาในประเทศจึงยังเป็นการพึ่งพิงการนำเข้าในสัดส่วนที่สูง
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากไทยต้องการลดการพึ่งพาการนำเข้ายาจากต่างประเทศ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนอุตสาหกรรมยาตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ผลิตยาในประเทศ โดยเฉพาะยาชื่อสามัญที่ผู้ผลิตน่าจะมีศักยภาพในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI มาตรการช่วยลดต้นทุนด้านอื่นๆ ในการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยา รวมถึงการสนับสนุนเงินลงทุนในระยะแรกที่ยายังไม่ออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งน่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนได้ตามการเติบโตของตลาดยาในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ อาจมีการส่งเสริมโครงการร่วมลงทุนหรือโครงการนำร่องร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนที่มีความพร้อม เพื่อพัฒนาการผลิตยาต้นตำรับ รวมไปถึงการพัฒนายาจากสมุนไพรและพืชเศรษฐกิจ เช่น ขมิ้นชัน กระชายขาว กัญชา/กัญชงทางการแพทย์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาสมุนไพรแห่งชาติ และที่สำคัญจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับให้กับผู้ใช้ (โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์) ทั้งเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของยาที่ผลิตในประเทศ ซึ่งน่าจะเริ่มใช้ในสถานพยาบาลของรัฐที่มีสัดส่วนการใช้ยาที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ เพื่อช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดการใช้ยาที่ผลิตในประเทศ
ขณะที่การผลิตยาต้นตำรับอาจจะยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากผู้ผลิตไทยยังต้องเสริมศักยภาพในการวิจัยและผลิตยาเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory Licensing: CL) การเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยี และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ หากไทยมีมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเงินลงทุน เทคโนโลยีและบุคลากรตลอดจนการส่งเสริมการตลาดให้ภาคธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ (Healthcare) หันมาใช้ยาที่ผลิตในประเทศได้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ผลิตในประเทศแล้ว ก็น่าจะทำให้สัดส่วนการนำเข้ายา โดยเฉพาะยาชื่อสามัญลดลงได้ และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นภาระทางการคลังของรัฐอีกด้วย
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS