{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
วิจัยกรุงศรีรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคมสูงสุดในรอบ 5 เดือน แต่อุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวช้า คาดกนง.คงดอกเบี้ยอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2565 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคมอยู่ที่ 2.38% YoY จาก 1.68% เดือนกันยายน สาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศตามสถานการณ์ราคาพลังงานโลก (+37.1%) และการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดในกลุ่มพืชผัก (+7.1) ผลกระทบจากน้ำท่วมทำให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดยาสูบเพิ่มสูงขึ้นจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.21% จาก 0.19% เดือนกันยายน สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2564 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.99% และ 0.23% ตามลำดับ
ในช่วงที่เหลือของปีอัตราเงินเฟ้อยังคงเผชิญแรงกดดันจาก:
ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทรงตัวในระดับสูงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาด้านอุปทาน
กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับภายหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวจากประเทศที่กำหนด
การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก
อย่างไรก็ตาม แม้ทิศทางของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งสูงขึ้นจากปัจจัยทางด้านอุปทานเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศมีทิศทางฟื้นตัวค่อนข้างช้า สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนล่าสุดที่ทรงตัวในระดับต่ำ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง หลังหลายประเทศกำลังประสบกับการกลับมาระบาดใหม่หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุม ทั้งนี้ ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินในสัปดาห์นี้ (วันที่ 10 พฤศจิกายน) คาดว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% และมีแนวโน้มตรึงไว้อย่างน้อยจนถึงสิ้นปีหน้า เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบางและไม่สม่ำเสมอ แม้อาจเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อจากปัจจัยด้านอุปทานอยู่บ้างในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าก็ตาม
ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจฟื้นต่อเนื่อง ขณะที่การเปิดประเทศสัปดาห์แรกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วกว่าสองหมื่นราย กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวหลังสถานการณ์การระบาดบรรเทาลง และมาตรการควบคุมการระบาดที่ผ่อนคลายเพิ่มเติม หนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนที่ 43.9 จาก 41.4 ในเดือนกันยายน โดยเป็นการปรับขึ้นในทุกองค์ประกอบ ด้านดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ 47.0 จาก 42.6 เดือนกันยายน จากการปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ ยกเว้นด้านต้นทุนที่ยังถูกแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับขึ้นเหนือระดับ 50 (ขยายตัว) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ 52.5 จาก 50.7
แม้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีมีสัญญาณฟื้นตัวจากความเชื่อมั่นทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาด (ที่ระดับค่าเฉลี่ย 75.5 และ 48.9 ตามลำดับ ในปี 2562) กอปรกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่ยังฟื้นล่าช้าแม้จะเริ่มมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจากข้อมูลช่วงวันที่ 1-7 พฤศจิกายน มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 22,832 ราย แม้สูงกว่าทั้งเดือนกันยายนที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 12,237 ราย แต่การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวโดยรวมแล้วอาจยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง อาทิ นโยบายของประเทศต้นทางที่ยังคุมเข้มการเดินทางระหว่างประเทศ และความกังวลจากสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันของไทยที่ยังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน อย่างไรก็ตาม มาตรการภาครัฐที่เพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค และกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ จะเป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้
ข้อมูลเพิ่มเติม
วิจัยกรุงศรี: https://www.krungsri.com/th/research/home
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS