ราคาน้ำมันพุ่ง... ส่อเค้ากระทบภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน

4

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดราคาน้ำมันดิบโลกปี 2564-2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 65% ซึ่งจะส่งผ่านไปยังน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกในประเทศให้เพิ่มขึ้น 25% ทำให้ค่าใช้จ่ายน้ำมันของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนล้านบาท หวั่นทำมาร์จิ้นภาคธุรกิจที่มีต้นทุนการใช้น้ำมันสูงลด 2-10% ในขณะที่ภาคครัวเรือนเตรียมรับค่าครองชีพเพิ่มขึ้น 1.6% แนะภาครัฐตรึงราคาขายปลีกในประเทศในยามที่ราคาพุ่งสูงขึ้น เพื่อลดภาระต้นทุนของภาคธุรกิจ และค่าครองชีพของประชาชน

จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนของธุรกิจและค่าใช้จ่ายของประชาชนอย่างมาก ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics วิเคราะห์ทิศทางและผลกระทบการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. แนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกและราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกในประเทศ 2. การประเมินผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ดังนี้

ปี 2564- 2565 คาดราคาน้ำมันดิบโลก (ราคาน้ำมันดิบดูไบ อ้างอิงตลาดสิงคโปร์) เฉลี่ยอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 65% จากปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศเฉลี่ยสูงขึ้น 25%

ราคาน้ำมันดิบดูไบทยอยไต่ระดับพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สิ้นปี 2563 ที่ผ่านมา และปรับขึ้นที่ระดับราคาเฉลี่ย 72.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนกันยายน 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปี 2563 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 75.8% โดยสาเหตุสำคัญของราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นหลังการระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย ประกอบกับวิกฤตการขาดแคลนถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ทำให้โรงงานไฟฟ้าหลายแห่งปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าทดแทนจึงทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูงขึ้น

ttb analytics ประเมินว่าแม้จะมีแรงกดดันดังกล่าวอยู่บ้าง แต่ทว่าการปรับขึ้นราคาอย่างรวดเร็วนี้เกิดจากอุปทานตรึงตัว จากกำลังการผลิตที่ลดลงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากความต้องการที่ลดลงจากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายย่อมทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจะทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้เกิดสมดุลกับความต้องการที่ฟื้นตัว ทำให้ระดับราคาปรับสู่ดุลยภาพ ซึ่งคาดว่าระดับราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงปี 2564-2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือปรับเพิ่มขึ้น 65% จากระดับราคาเฉลี่ย 42.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในปี 2563

ผลการศึกษาการส่งผ่านราคาน้ำมันดิบดูไบไปสู่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกในประเทศ ผ่านโครงสร้างปริมาณการใช้น้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทยพบว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 65% ในช่วงปี 2564-2565 จะส่งผ่านไปยังราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้น 25% ซึ่งจะทำให้แนวโน้มราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปี 2564-2565 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 27.8 บาทต่อลิตร โดยกลุ่มน้ำมันเบนซินราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 26.7 บาทต่อลิตร (เพิ่มขึ้น 23.8%) และกลุ่มน้ำมันดีเซลราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 28.2 บาทต่อลิตร (เพิ่มขึ้น 25.0%)

ด้านการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในปี 2564 คาดว่าจะหดตัว 4.2% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความต้องการลดลง โดยกลุ่มน้ำมันเบนซินจะลดลง 5.5% จากการจำกัดการเดินทางของประชาชนตามมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 และกลุ่มน้ำมันดีเซลจะลดลง 3.2% จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง โดยเฉพาะการขนส่งโดยสารคนที่ลดลง

ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่สูงขึ้นจะทำให้ค่าใช้จ่ายน้ำมันเพิ่มขึ้น 2.0 แสนล้านบาท โดยภาคธุรกิจจะเพิ่มถึง 1.83 แสนล้านบาท ขณะที่ภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น 1.7 หมื่นล้านบาท

จากการวิเคราะห์ผลกระทบราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่สูงขึ้นต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนผ่านโครงสร้างการ.ใช้น้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทย จะพบว่า ในแต่ละปีมีการใช้น้ำมันสำเร็จรูปอยู่ระหว่าง 3.4 – 3.6 หมื่นล้านลิตรต่อปี แบ่งเป็นการใช้กลุ่มน้ำมันดีเซล 68% ที่เหลือเป็นการใช้กลุ่มน้ำมันเบนซิน 32% โดยภาคธุรกิจมีการใช้น้ำมันสำเร็จรูปมากเป็นสัดส่วนสูงถึง 92% ในขณะที่ภาคครัวเรือนใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพียง 8% ของการใช้รวมทั้งประเทศ ซึ่งระดับราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 25% ในปี 2564-2565 จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น 2 แสนล้านบาท (คำนวณเทียบบนฐานปริมาณการใช้น้ำมันในปีปกติ) คิดเป็น 1.3% ต่อจีดีพี โดยจะทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจสูงขึ้น 1.83 แสนล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันของภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น 1.7 หมื่นล้านบาท

ธุรกิจที่ต้นทุนพึ่งพิงน้ำมันสูงได้รับผลกระทบหนัก ส่อเค้ามาร์จิ้นร่วง 2 - 10%

สำหรับผลกระทบจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อภาคธุรกิจ โดยวิเคราะห์ผ่านโครงสร้างต้นทุนการใช้น้ำมันต่อต้นทุนรวม และอัตรากำไรขั้นต้นจากงบการเงินเฉลี่ยของธุรกิจ ซึ่งเจาะลึกธุรกิจที่ใช้น้ำมันมาก ได้แก่ ขนส่งและโลจิสติกส์ (สัดส่วนต้นทุนจากการใช้น้ำมัน 32%) ประมง (19%) เหมืองแร่ (11%) เคมีภัณฑ์ (9%) และวัสดุก่อสร้าง (4%) พบว่าระดับราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 25% ในปี 2564-2565 ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต่อมาร์จิ้นสูงสุด ได้แก่ ขนส่งและโลจิสติกส์ ประมง เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เหมืองแร่ ยานยนต์และชิ้นส่วน และวัสดุก่อสร้าง โดยมาร์จิ้นของธุรกิจจะลดลง 10.4%, 3.6%, 3.2%, 2.6%, 2.2%, 2.0% และ 2.0% ตามลำดับ เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้พึ่งพิงน้ำมันมาก แต่ความสามารถในการปรับราคาขายตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต้องใช้เวลาส่งผ่านนานและส่วนใหญ่สินค้ามีการควบคุมราคาจากภาครัฐ ทำให้เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ออัตรากำไรของธุรกิจจะลดลง

ภาคครัวเรือนเตรียมรับค่าครองชีพสูงขึ้น 1.6%

ผลการศึกษาค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันสำเร็จรูปของภาครัวเรือนไทยจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2563 พบว่าภาคครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ย 1,361 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนการใช้น้ำมัน 6.4% ของค่าใช้จ่ายรวม โดยระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น 25% จะส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 340 บาทต่อเดือน คิดเป็นค่าใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นหรือค่าครองชีพเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.6% และเมื่อพิจารณาแยกเป็นรายภาคจะพบว่าภาคใต้และภาคกลางเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ เนื่องจากมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายน้ำมันสูง โดยสัดส่วนของภาคใต้ และภาคกลาง คิดเป็น 7.5% และ 6.9% ของค่าใช้จ่ายรวม ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายน้ำมันส่งผลให้ค่าครองชีพภาคใต้และภาคกลางเพิ่มขึ้น 1.9% และ 1.7% ตามลำดับ

แนะรัฐตรึงราคาขายปลีกในประเทศในยามที่ราคาสูงขึ้นเพื่อลดภาระต้นทุนภาคธุรกิจและค่าครองชีพประชาชนการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลกในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ปริมาณการใช้ปกติของโลก หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง จะส่งผลทำให้เกิดความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเกินกว่าการคาดการณ์ราคาเฉลี่ยทั้งปี โดยเฉพาะไตรมาส 4 ของปีนี้ที่น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยมีโอกาสขยับขึ้นแตะ 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้ ซึ่งจะส่งผ่านให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าราคาเฉลี่ยทั้งปีได้ ดังนั้น ในยามที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นจากความไม่สมดุลนี้ ภาครัฐควรพิจารณาตรึงราคาขายปลีกในประเทศ โดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาชดเชยราคาให้ลดลง และหากมีความจำเป็นในกรณีราคาพุ่งสูงขึ้นมากอาจพิจารณาลดภาษีน้ำมันลง เพื่อช่วยบรรเทาภาระต้นทุนของภาคธุรกิจและค่าครองชีพประชาชนลงจนกว่าราคาน้ำมันจะปรับเข้าสู่ระดับราคาสมดุลใหม่อีกครั้ง


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment