สวทช.ส่งต่อเอกชนผลิตชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบ SELF TEST หลังผ่าน อย.

สวทช.เผยชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตนเอง ( SELF TEST) ด้วยเทคนิค LFA ผ่านการประเมินจาก อย. เรียบร้อยแล้ว หวังเป็นทางเลือกช่วยคัดกรองผู้ติดเชื้อ ส่งไม้ต่อเอกชน ขยายกำลังการผลิต รองรับความต้องการของตลาด

ดร.ภญ.ณัฐปภัสร วิริยะชัยพร ทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซนเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตนเอง หรือแบบ SELF TEST แบบรวดเร็วชนิดการตรวจหาแอนติเจน (เทคนิค LFA) หรือ NANO Covid-19 Antigen Rapid Test ที่อาศัยหลักการไหลในแนวราบ และการจับกันแบบจำเพาะของโมเลกุลที่มีความจำเพาะต่อโปรตีนของเชื้อโคโรนาไวรัส โดยโมเลกุลดังกล่าวจะถูกติดสลากด้วยวัสดุนาโนตอบสนองชนิดพิเศษ ร่วมกับการพัฒนาและปรับสภาพองค์ประกอบต่างๆในชุดตรวจเพื่อให้สัญญาณ/เพิ่มสัญญาณ จนอ่านสัญญาณได้ภายใน 15 นาที ได้ผ่านการพิจารณาด้านเทคโนโลยีจาก คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมี บริษัท อินโนไบโอเทค จำกัด รับถ่ายทอดเทคโนโลยี และมีภาคเอกชนที่อยู่ระหว่างหารือร่วมกันอีกด้วย เพื่อผลิตออกสู่ตลาด เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการตรวจสอบการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง

“หลังจากเราพัฒนาชุดตรวจฯ แบบ Professional Use เสร็จแล้ว สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นโยบายจากภาครัฐที่เน้นเรื่องความสำคัญในการขยายการเข้าถึงชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ของประชาชนให้มากขึ้น จึงมีการอนุมัติให้สามารถใช้ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตนเอง หรือหลายคนเรียกว่า ชุดตรวจฯ แบบ Home Use หรือ Self-Test ซึ่งทางนาโนเทคเองก็มองเห็นความสำคัญ ช่วยเปลี่ยนผ่านงานวิจัย ต่อยอดมาเป็นชุดตรวจแบบ SELF TEST” ดร.ภญ.ณัฐปภัสรเผย

นักวิจัยนาโนเทคชี้ว่า ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 (NANO Covid-19 Antigen Rapid Test) ทั้งแบบ Professional Use และแบบ SELF TEST ที่พัฒนาขึ้นนั้น ใช้หลักการตรวจหาแอนติเจนแบบรวดเร็ว (เทคนิค LFA) เหมือนกัน แต่ความแตกต่างคือ แบบ Professional Use ที่ผู้ทำการตรวจคัดกรองจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ และก้านเก็บตัวอย่างจะพิเศษกว่า ทั้งในแง่ของความยาว และความยืดหยุ่น เพื่อให้เก็บตัวอย่างได้ในตำแหน่งที่ลึก ในขณะที่แบบ SELF TEST จะเป็นประชาชนทั่วไป ก้านเก็บตัวอย่างจะแข็งและสั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บระหว่างใช้งานของผู้ใช้ที่ไม่คุ้นชิน

นอกจากนี้ ยังแตกต่างในด้านการแปลผล ที่แบบ Professional Use ซึ่งทำในสถานพยาบาล ซึ่งจะมีเครื่องไม้เครื่องมือ และอุปกรณ์ในระดับห้องปฏิบัติการรองรับในการวิเคราะห์และแปลผล ในขณะที่แบบ SELF TEST จะแปลผลจากชุดตรวจโดยผู้ใช้งานโดยตรง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบ Professional Use หรือแบบ SELF TEST ดร.ภญ.ณัฐปภัสรย้ำว่า หากผลการทดสอบเป็นบวกด้วยวิธี Antigen Rapid Test นี้ ต้องได้รับการตรวจยืนยันด้วยวิธีอนูวิทยาหรือ RT-PCR เพื่อยืนยันอีกครั้ง

ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 (NANO Covid-19 Antigen Rapid Test) แบบ SELF TEST นั้น ผู้ใช้งานสามารถทำการตรวจหาเชื้อได้เองที่บ้านด้วยการใช้ก้านเก็บตัวอย่างสอดเข้าไปในโพรงจมูก (ลึก 1.5-2.5 เซนติเมตร) โดยหมุนก้านเก็บตัวอย่างเพื่อป้ายให้ทั่วโพรงจมูกไปทางซ้าย 5 รอบ และทางขวา 5 รอบ จากนั้น ทำซ้ำกับโพรงจมูกอีกข้าง นำก้านเก็บตัวอย่างมาจุ่มในหลอดน้ำยาชุดตรวจ 1 นาทีโดยบีบปลายก้านเก็บตัวอย่าง แล้วดึงก้านเก็บตัวอย่างออก ปิดหลอดบรรจุน้ำยาชุดตรวจไว้อีก 1 นาที จากนั้น เตรียมการทดสอบโดยนำตลับชุดตรวจวางบนพื้นที่ราบเสมอกันและสะอาด บีบหลอดบรรจุน้ำยาชุดตรวจที่ผสมตัวอย่าง 5 หยดลงบนช่องหยดตัวอย่างของชุดตรวจแล้วรอ 15 นาทีเพื่ออ่านผล

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตนเอง หรือแบบ SELF TEST จะเป็นฟันเฟืองสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิต และทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด ที่สอดรับกับนโยบายภาครัฐที่เตรียมพร้อมในการเปิดประเทศ รวมถึงมาตรการผ่อนปรนต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน ผู้ประกอบการ สถานที่ต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีชุดตรวจคัดกรองนี้ เพื่อวางแผนการจัดกิจกรรม หรืองานต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เข้าร่วม และลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้ออีกด้วย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment