ธ.ก.ส.ยืดชำระหนี้ เร่งชดเชยประกันภัยและจัดสินเชื่อฉุกเฉินดอกเบี้ย 0% 6 เดือน ช่วยเกษตรกรเจอภัยพายุเตี้ยนหมู่

ธ.ก.ส. เร่งช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยพายุเตี้ยนหมู่ ขยายเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน ไม่คิดเบี้ยปรับ เร่งสำรวจความเสียหายจ่ายชดเชยประกันภัย จัดสินเชื่อฉุกเฉินรายละไม่เกิน 50,000 บาท ดอกเบี้ย 0 % 6 เดือน และสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ ดอก %4 ต่อปี รายละไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อเป็นเงินทุนประกอบอาชีพหลังประสบภัย

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. มีความห่วงใยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุเตี้ยนหมู่ ซึ่ง ธ.ก.ส. จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยออกไปสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ตามศักยภาพโดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความหนักเบาของผู้ประสบภัยทุกราย พร้อมจัดเตรียมสินเชื่อฉุกเฉินรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน และตั้งแต่เดือนที่ 7 อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.50 ต่อปี) ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 3 ปี เพื่อนำไปใช้จ่ายที่จำเป็นภายในครัวเรือน วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท และสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพทางการเกษตรระยะสั้น อาทิ โครงการ 459 โครงการครึ่งไร่คลายจน เป็นต้น รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายและค่าลงทุนในการประกอบอาชีพเสริมอื่น ๆ วงเงินรายละไม่เกิน 100,000 บาท โดยกรณีกู้เงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน พิเศษไม่เกิน 18 เดือน กรณีกู้เพื่อลงทุน ปีที่ 1-3 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ปีที่ 4-5 อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.50 ต่อปี) วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เงื่อนไขในการอนุมัติเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

สำหรับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยทั้ง 28 จังหวัด ที่ถูกประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ และได้ทำประกันไว้ในโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรกับ ธ.ก.ส. ภายหลังจากน้ำลด ธ.ก.ส. จะร่วมกับ ส่วนงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมประสานงานกับบริษัทผู้รับประกันภัยในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขโดยเร็ว เพื่อให้เกษตรกรได้มีเงินทุนหมุนเวียนในการลงทุนต่อไป ทั้งนี้ โครงการประกันภัยข้าวนาปีมีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 3.6 ล้านราย พื้นที่กว่า 43 ล้านไร่ โดยในพื้นที่ประสบภัยมีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 878,000 ราย พื้นที่ 12.4 ล้านไร่ และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 82,000 ราย พื้นที่กว่า 1.48 ล้านไร่ โดยมีเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยจำนวนกว่า 60,600 ราย พื้นที่ 1.1 ล้านไร่


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment