กระท่อม...ความท้าทายขึ้นอยู่กับอุปสงค์ในระยะแรกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

หลังจากที่ไทยได้มีการปลดล็อกพืชกระท่อม[1]ออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้สร้างกระแสความสนใจให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้างทั้งในฝั่งของผู้ผลิตและผู้บริโภค นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ได้จากพืชกระท่อมนี้ จากการให้ประชาชนสามารถปลูก ซื้อ ขายได้อย่างเสรีโดยไม่ผิดกฎหมาย จึงทำให้เริ่มเห็นสีสันการขายกระท่อมในผู้ขายรายย่อยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตลาดนัด และเปิดท้ายขายกันอย่างคึกคักโดยเฉพาะในรูปแบบของใบสด แต่ที่สำคัญหากจะมองไปถึงโอกาสทางธุรกิจของผลิตภัณฑ์พืชกระท่อมในเชิงพาณิชย์ที่น่าจะสร้างเม็ดเงินได้ จะเห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมปลายน้ำ[2]ต่างก็ออกมาขานรับกระแสพืชกระท่อมนี้ได้อย่างคึกคักไม่แพ้กันกับต้นน้ำ โดยเฉพาะผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมปลายน้ำอย่างอาหาร เครื่องดื่ม และยา ซึ่งหากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ยื่นใบอนุญาตในการผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมได้ ที่คาดว่าจะอนุญาตได้ภายในปีนี้ ก็น่าจะได้เริ่มเห็นผลิตภัณฑ์กระท่อมทยอยจำหน่ายออกสู่ตลาดในปี 2565

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด ในระยะแรกนับว่าความสำเร็จของภาพรวมธุรกิจกระท่อมคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และคงต้องขึ้นอยู่กับอุปสงค์เป็นสำคัญภายใต้อุปทานที่มีจำกัด จึงถือว่าเป็นช่วงทดสอบตลาดและผู้ประกอบการปลายน้ำยังต้องลองผิดลองถูกอยู่พอสมควรกับตลาดผู้บริโภคว่าจะให้การตอบรับกับสินค้ากระท่อมได้ในระดับใด ซึ่งคงต้องรอดูผลตอบรับจากผู้บริโภคไปอีกสักระยะหนึ่ง แม้ในเบื้องต้นจะเห็นผู้ประกอบการรายใหญ่ได้กระโดดเข้ามาเล่นในธุรกิจนี้แล้ว ซึ่งก็อาจทำได้ในสเกลเล็กๆ ที่จะสามารถประคองสินค้าไปได้ โดยใช้วัตถุดิบจากอุปทานที่มีจำกัดโดยเฉพาะในจังหวัดทางภาคใต้ที่ผู้มีผลผลิตกระท่อมในมือ[3] จะได้รับประโยชน์ผ่านการขายใบกระท่อมสดที่มีราคาค่อนข้างสูงเฉลี่ยราว 250-350 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้คาดว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2564 (ก.ย.-ธ.ค.) รายได้เกษตรกรอาจอยู่ที่ราว 9,000-12,000 บาทต่อไร่ต่อเดือน ภายใต้สมมติฐานการคำนวณจากอุปทานกระท่อมที่มีอยู่ราว 1,578 ต้น ซึ่งเป็นเพียงการประเมินตัวเลขปัจจุบันในเบื้องต้นเท่านั้น แต่ในระยะข้างหน้าจะไม่สามารถใช้ตัวเลขดังกล่าวเป็นเครื่องชี้วัดอ้างอิงและไม่สามารถใช้เป็นเครื่องสะท้อนความยั่งยืนทางการผลิตได้ รวมถึงรายได้เกษตรกรที่ประเมินนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูงที่จะสามารถยืนรักษาระดับราคาดังกล่าวนี้ไปได้ในระยะข้างหน้า เพราะรายได้เกษตรกรจะขึ้นอยู่กับการตอบรับของอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำที่ใช้กระท่อมเป็นวัตถุดิบเป็นสำคัญ โดยในปัจจุบันเองก็ยังไม่เห็นผลิตภัณฑ์กลางน้ำและปลายน้ำจากกระท่อมวางจำหน่ายในตลาด ซึ่งคงต้องใช้เวลาสักระยะในการสร้างตลาดเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์จากกระท่อม ทำให้อุปสงค์ยังมีความไม่แน่นอนสูงและประเมินได้ยากในระยะถัดไป ดังนั้น เกษตรกรต้องทำความเข้าใจถึงเงื่อนไขดังกล่าวในการประกอบการตัดสินใจปลูกกระท่อม

อย่างไรก็ดี กลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์นี้ยังนับว่ามีสัดส่วนน้อยคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.07 ของจำนวนครัวเรือนเกษตรกรในภาคใต้[4] และคาดว่ารายได้เกษตรกรกลุ่มนี้จะอยู่ในเกณฑ์ดีแค่ในระยะแรกเท่านั้น ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะปรับลดลงได้ในระยะข้างหน้า เพราะอุปสงค์ยังมีความไม่แน่นอนสูง ผนวกกับหากตลาดผู้บริโภคกระท่อมให้การตอบรับดีในระยะแรกก็อาจจูงใจให้มีผลผลิตกระท่อมที่ปลูกใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้นในระยะ 3 ปีข้างหน้า ดังนั้น ในด้านอุปสงค์ที่รอการพิสูจน์ตลาดในระยะแรก จะนับว่ามีบทบาทสำคัญในการกำหนดอุปทานกระท่อมที่จะปลูกใหม่ในปัจจุบันและให้ผลผลิตในระยะข้างหน้า อันจะมีผลต่อระดับราคา/รายได้/ภาพรวมธุรกิจกระท่อมของไทยในอนาคต

สำหรับในฝั่งของอุปสงค์กระท่อมที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง แม้จะมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมปลายน้ำที่กระท่อมสามารถมีโอกาสเข้าไปทำตลาดได้จะมีแนวโน้มเติบโตทั้งในและต่างประเทศในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง แต่ก็นับว่ายังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก เพราะยังอยู่ในช่วงทดสอบตลาดในปัจจุบัน โดยมีการประเมินว่า มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ปลายน้ำในประเทศที่ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชั่นนัลฟู้ด (Functional Food) เครื่องดื่มชูกำลัง และสมุนไพร จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2564-2568 ที่ราวร้อยละ 1.0-3.1[5] และมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ปลายน้ำในต่างประเทศที่ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมยาลดปวด เครื่องสำอาง และเครื่องดื่มชูกำลัง จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2564-2568 ที่ราวร้อยละ 3.6-6.4[6] ล้วนเป็นตลาดที่กระท่อมมีโอกาสเข้าไปได้ ทั้งนี้ แม้จะมีการคาดการณ์ตัวเลขดังกล่าว แต่จะไม่สามารถใช้เป็นเครื่องชี้วัดได้ เพราะในที่สุด คงต้องขึ้นอยู่กับระดับการตอบรับของตลาดกลางน้ำและปลายน้ำที่ใช้วัตถุดิบจากกระท่อมเป็นหลัก ถ้าหากตลาดมีการตอบรับที่ดี ก็มีความเป็นไปได้ว่าในระยะข้างหน้าตัวเลขอาจใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ แต่หากตลาดตอบรับไม่ดี ก็อาจส่งผลต่อตัวเลขให้แย่ลง ซึ่งจะกระทบต่อภาพการผลิตกระท่อมต้นน้ำได้

อย่างไรก็ดี แม้จะเห็นตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมปลายน้ำดังกล่าวในระยะข้างหน้า แต่ก็นับว่าเป็นอัตราการเติบโตที่ไม่สูงนัก และคาดว่ากระท่อมอาจเข้าไปมีส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ในสัดส่วนไม่มาก เนื่องจากความไม่ง่ายในการเจาะตลาดปลายน้ำของกระท่อม ซึ่งเป็นตลาดที่แคบเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) เช่น ผู้บริโภคที่ต้องการความกระปรี้กระเปร่า ผู้ป่วยที่ต้องการยาลดความเจ็บปวด เป็นต้น ตลอดจนการรับรู้ของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์กระท่อมซึ่งเคยเป็นยาเสพติดมาก่อนยังมีไม่มากนัก รวมถึงผู้บริโภคต้องมีความรู้พอสมควรในสรรพคุณพืชกระท่อม ทำให้ผู้ประกอบการปลายน้ำอาจต้องมีการทำการตลาดพอสมควร อีกทั้งราคาขายที่น่าจะสูงกว่าสินค้าทดแทนอื่นๆ ล้วนเป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้ราคากระท่อมในระยะข้างหน้าอาจปรับตัวลดลงแรงเมื่อเทียบกับในปัจจุบัน ยกเว้นว่าอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำจะได้รับการตอบรับและแข็งแรงมากพอ จึงจะสามารถช่วยให้ราคากระท่อมสดต้นน้ำยืนระดับดีได้ต่อเนื่อง ดังนั้น ด้วยอุปสงค์ที่มีความไม่แน่นอนสูง จึงอาจต้องมีการประเมินภาพธุรกิจกระท่อมเป็นระยะๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สำหรับเกษตรกรที่สนใจลงทุนปลูกต้นกระท่อมใหม่ คงต้องมีการวางแผนเพื่อตัดสินใจในการปลูกอย่างรอบคอบ เพราะยังขึ้นอยู่กับการตอบรับของอุปสงค์ในระยะแรก ซึ่งคงต้องมีการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ร่วมกับเงื่อนไขหลายประการ ที่สำคัญคือ เงินลงทุนในการเริ่มปลูก เงินทุนหมุนเวียนระหว่างรอเก็บเกี่ยวผลผลิต ระยะเวลาคืนทุน และความเสี่ยงของราคาขายที่จะได้รับ ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ที่ราคาขายเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วอาจน้อยกว่าในปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากอุปทานมีปริมาณเพิ่มขึ้นและอุปสงค์ยังคงมีความไม่แน่นอน ซึ่งหากเกษตรกรผู้ปลูกกระท่อมไม่มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับผู้รับซื้อ ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันราคาให้ปรับตัวลดลงไปตามกลไกตลาด ทั้งนี้ การปลูกกระท่อมใหม่เพื่อแซมพืชอื่นในสวนจะเป็นแนวทางที่ดี โดยอาจเริ่มต้นทำในสเกลเล็กๆ ซึ่งจะเหมาะกับเกษตรกรที่มีความพร้อมในแง่ของพื้นที่/เงินทุน และอาจไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงมากเท่ากับการเลือกปลูกกระท่อมแบบเชิงเดี่ยว นอกจากนี้ ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนพืชกระท่อม ทั้งในแง่ของการให้ความรู้ในการปลูกที่ถูกต้อง การบริหารจัดการผลผลิตที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอุปทานส่วนเกิน (Over Supply) และการส่งเสริมการปลูกในพื้นที่ศักยภาพโดยเฉพาะในภาคใต้ รวมถึงแนวทางการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนและการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับผู้รับซื้อ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกระท่อมถึงระดับรายได้ที่ดีในอนาคต

รุป นอกจากตลาดในประเทศที่ต้องรอดูการตอบรับของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่ใช้กระท่อมเป็นวัตถุดิบแล้ว สำหรับในแง่ของตลาดส่งออก ก็นับว่ายังมีความไม่แน่นอนเช่นกัน เนื่องจากการจะบุกตลาดโลกได้นั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ซึ่งผู้ประกอบการปลายน้ำที่ใช้กระท่อมเป็นวัตถุดิบ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง ต่างก็ต้องสร้างการรับรู้ในสินค้าซึ่งเป็นสินค้าใหม่ ต้องหาฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่มให้เจอ สามารถแข่งขันได้ทั้งในเรื่องของราคาและคุณภาพเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ทดแทนอื่นๆ ในตลาด รวมถึงคู่แข่งหลักที่มีผลผลิตกระท่อมอย่างอินโดนีเซีย ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความต้องการของผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่ใช้กระท่อมเป็นวัตถุดิบ ทั้งเพื่อรองรับตลาดในประเทศและส่งออกที่แข็งแรงมากพอและมีความต่อเนื่อง จะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดความต้องการใช้กระท่อมสด และมีผลต่อทิศทางราคากระท่อมสด ตลอดจนผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกกระท่อมในอนาคต


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment